ผมอึดอัดคับข้องกับข่าวการช่วย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง ตั้งใจผ่อนคลาย หาหนังสือสักเล่มอ่าน

นิยายแปลงพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา สุจิตต์ วงษ์เทศ ตั้งชื่อว่า “กรุงแตก ยศล่มแล้ว” (สำนักพิมพ์นาตาแฮก พ.ศ.2561) อยู่ใกล้มือ เคยอ่านแล้วก็อ่านอีก สะดุดกึก ตอนที่ 90 น้ำไล่ศึก

ฉากนี้อยู่ท่าสิบเบี้ย ท่าน้ำขึ้นลงเรือจ้างตรงท่าช้างวังหลวง ข้ามออกจากกรุงไปวัดศรีโพธิ์นอกเกาะทางทิศเหนือ การสนทนาของชาวบ้าน ถึงเหตุการณ์บ้านเมือง

ข่าวใหญ่เวลานั้น กำปั่นฝรั่งหนีไปแล้ว ทิ้งผ้ามัดไว้สี่สิบมัดอยู่พระคลังสินค้าหลวง

ต่อปากกันไปไม่กี่คำ กลายเป็นเรื่องตีฝีปากกระทบกัน “ใครนินทา เป็นหมาขี้เรื้อน” ยายเฒ่าพึมพัม “ถ้าไม่นินทาเป็นอะไรดีล่ะแม่เฒ่า” นางข้าหลวงพูดพลางบ้วนน้ำหมาก “ไม่นินทาเป็นหมาวัด มีข้าวกิน ไม่ต้องกินขี้”

“ไม่มีใครให้หมากินข้าววัดหรอกอีบ้า อีพวกนังข้าหลวงจะรู้ประสาอะไร” แม่เฒ่าเยาะเย้ย “ข้าวเอาไว้ให้คนกิน แต่หมาบ้านกินน้ำข้าวเว้ย”

“หมากินน้ำข้าวจากเช็ดน้ำหม้อข้าว” ทหารหลวงพวกหนึ่ง ข้ามฟากจากฝั่งโน้นมาขึ้นท่าสิบเบี้ยพอดี “แต่อังวะข้าศึกกินน้ำท่วมข้าวในนาข้าว จนอืดเป็นหมาเน่าลอยน้ำ”

“น้ำลดแล้ว พวกข้าศึกก็ยกเข้ามากรุงได้” พ่อเฒ่าได้ยินทหารหลวงพูด ก็ตะโกนบอกไป “กว่าจะยกมา น้ำก็มาถึงกรุงท่วมอีก ไม่เห็นหรือเพิ่งท่วมไปหยกๆ แล้วศึกไหนมันจะอยู่ให้น้ำท่วม”

ทหารหลวงพูดอย่างทรนงองอาจ แล้วเดินออกจากท่าสิบเบี้ยไปทางประตูวังหลวง

คืนนั้นบรรดาเจ้านายกับขุนนางอำมาตย์ใหญ่ ขึ้นเฝ้าพร้อมหน้ากัน มีข่าวศึกมาตีบ้านเล็กเมืองน้อยไม่เว้น ข้างใต้กรุงลงไปทางเมืองบางกอกกับเมืองนนทบุรี

...

เจ้ากรมพระนครบาล ถวายบังคมทูลเรื่องกล้าทหารกับไพร่พลเมืองที่เข้ามาอยู่ในกำแพงพระนคร กับข้าวปลาอาหารจำนวนมาก พอเพียงเลี้ยงได้

พระเจ้าเอกทัศให้เอาปืนใหญ่น้อย ขึ้นรักษาไว้ตามเชิงเทิน แลป้อมกำแพงเมืองทุกช่อง แล้วให้ลงขวากช้างขวากม้าและบังเพลิง จนถึงอาวุธต่างๆ ไว้รอบพระมหานคร

สมุหกลาโหม สมุหนายก กราบทูลปรึกษา จะยกไปตี (พม่า) ทางทิศเหนือหรือทิศใต้

อำมาตย์ขุนนางพวกหนึ่ง เห็นว่าถ้ายกไปตีศึกหลายทาง ก็เท่ากับกระจายกำลังเป็นกองทัพย่อย ถึงยกออกไปจะถูกตีต้านกลับเข้ามา เหมือนที่พากันแม้พ่ายหลายหน

เจ้าอาทิตย์บอกว่า ทหารพวกนั้นไม่มีแรงรบ เพราะมัวแต่ดูแลกิจการพระคลังหลวง อาจไปถึงตายคาสนามรบ ถ้าคัดเลือกนายทัพได้ ยิ่งไปตามเจ้านายมีฝีมือมาอยู่รักษาตีรบจากข้างนอกสมทบด้วย ก็ ยิ่งดีวิเศษ

เจ้านายมีฝีมือ คือเจ้าแขกกรมหมื่นเทพพิพิธ มีคนกลัวจะเกิดศึกข้างในยึดอำนาจซ้อน พระเจ้าเอกทัศได้ยินก็ไม่พอพระทัย เรียกมหาดเล็กเชิญพระแสงขรรค์ชัยศรีมาไว้ตรงข้างขวา พลางเชิญเอามาพาดพระเพลา แล้วจับไว้มั่น

แล้วตรัสด้วยพระสุรเสียงก้องดังว่า รักษาให้มั่นคงไว้แต่ข้างใน เมืองนี้มีเทวดาคุ้มครอง ไม่มีใครเอาชนะได้

รอให้ฝนลงมา น้ำจะท่วมรอบพระนครดุจมหาสมุทรสีทันดร กองทัพข้าศึกจะถอยกลับไปเอง ถ้าไม่ถอยก็น้ำท่วมตาย จระเข้เหราพากันฟัด

เจ้าอาทิตย์ได้แต่ก้มหน้าหมอบนิ่ง รู้ดีว่าขืนท้วงติงจะได้ถูกอาญาหลวงดาบอาญาสิทธิ์ถึงตาย

ประวัติศาสตร์อยุธยาจบลง ตรงพม่าสุมกำแพงพระนครศรีอยุธยา ตีหักเข้ายึดเมือง น้ำที่หวังว่าจะเป็นปาฏิหาริย์ป้องกันเมือง ช่วยอะไรไม่ได้เลย

อ่าน “กรุงแตก ยศล่มแล้ว” ถึงตอนนี้ ผมก็ยิ่งเศร้า น้ำในสมัยอยุธยา ผู้นำตั้งใจใช้ไล่ศึก แต่น้ำในสมัย 13 ชีวิตเด็กๆติดถ้ำ กลายเป็นศึกไล่น้ำ ต้องระดมทุกสรรพกำลัง เอาชนะน้ำให้ได้โดยสถานเดียว.

กิเลน ประลองเชิง