อย่างที่หัวหน้าทีมซอกแซกเคยเขียนเกริ่นเอาไว้แหละครับ ว่าเมืองตรังหรือจังหวัดตรัง เป็นจังหวัดที่มีเสน่ห์...ไปเที่ยวทีไรก็จะมีเรื่องราวกลับมาเขียนถึงอยู่เสมอ
ไปร่วมพิธีมอบอาคารเรียน “100 ปี กำพล วัชรพล” และเปิดโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 102 (บ้านเกาะเต่า) คราวนี้ก็ได้เรื่อง ของหวาน เมืองตรัง (ร้าน KUANITO) มาเขียนไปแล้ว 1 เรื่องเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สัปดาห์นี้มาว่ากันต่ออีกเรื่องครับ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งใหม่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนี้ เพราะเพิ่งจะดังขึ้นมาในช่วง 4-5 ปีนี่เอง
ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินหรือผ่านหูผ่านตากันมาบ้างแล้ว กับเรื่องราวของ “วังเทพทาโร” หรือ “วังมังกรไม้หอม” ที่อำเภอห้วยยอด อำเภอเดียวกับที่ตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 102 นี่แหละ
หัวหน้าทีมฯเคยอ่านเจอมาก่อนจากเว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ถ้าจำไม่ผิด) ว่า “วัง” ที่ว่านี้ความจริงเป็นสวนขนาดเล็ก แต่ตกแต่งสวยงามมาก
โดยเฉพาะเอารากไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าไม้ “เทพทาโร” มาประดิดประดอยเป็นตัวมังกรขนาดต่างๆ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เรียงรายตั้งแต่ทางเข้าสู่สวนไปจนถึงกลางสวน และเป็นแลนด์มาร์กของสวนแห่งนี้
ถ่ายรูปออกมาสวยงามวิจิตรตระการตาไม่เบาเลยทีเดียว
นับเป็นโชคดีของทีมงานซอกแซกชุดใหญ่ จากไทยรัฐ ที่ได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมและไปเดินลอดท้องมังกรเอาฤกษ์เอาชัย ก่อนจะไปร่วมพิธีเปิดโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 102 ในวันถัดมา
และก็โชคดีอีกเช่นกัน ที่มีโอกาสได้พบกับ ครูจรูญ แก้วละเอียด อดีตครูภาษาอังกฤษ ของโรงเรียนห้วยยอด วัย 65 ปี ซึ่งเกษียณออกมาใช้ชีวิตเต็มตัว ที่ “วังเทพทาโร” ที่เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการบุกเบิกปรับปรุง เนื้อที่กว่า 20 ไร่ของบริเวณนี้ให้เป็น “วังมังกรไม้หอม” มาตั้งแต่แรกเริ่ม
...
อดีตครูภาษาอังกฤษท่านนี้เป็นคนที่สนใจใคร่รู้ และหมั่นเรียนหมั่นศึกษาอยู่ตลอดเวลา จนวันหนึ่งก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ไม้เทพทาโร ซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ของภาคใต้ และเป็นต้นไม้คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย เพราะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ปรากฏชื่อในจารึกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ไม้เทพทาโรเป็นไม้ที่มีความหอมถึง 4 กลิ่น สมัยโบราณเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “จวง” หรือ “จวงหอม” ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นไม้มงคล มักนิยมไปทำยา หรือทำวัตถุมงคลต่างๆ
ไม้จวงหอม เคยเป็นไม้ที่มีอยู่มากในภาคใต้ แต่แล้วจู่ๆก็หายไป ถูกโค่นทิ้งเพื่อนำเนื้อที่ไปปลูกยางพาราเสียเกือบหมด จนปัจจุบันนี้เหลือ ป่าเทพ-ทาโร ให้เห็นน้อยมาก
จะพอมีเยอะเขียวชอุ่มเป็นผืนใหญ่อยู่บ้าง ก็ที่วัดแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น
เมื่อรู้ถึงความมหัศจรรย์ของไม้เทพทาโร ครูจรูญก็ตระเวนกว้านซื้อตอไม้ที่ถูกโค่น และแห้งตายซากตามจังหวัดต่างๆของภาคใต้มาเก็บรวบรวมไว้
พร้อมกับนำมาแกะสลัก และดัดแปลงประดิดประดอยให้เป็นรูปตัวมังกรต่างๆ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง สั้นบ้าง ยาวบ้าง รวมแล้วถึง 88 ตัว
ต่อมาเมื่อเขาพร้อมและได้มรดกที่ดินผืนนี้มาจากญาติผู้ใหญ่ เขาก็เริ่มจัดวางมังกรทั้งหมดไว้ตามมุมต่างๆ ควบคู่ไปกับการปลูกต้นเทพทาโรใหม่ๆ และไม้อย่างอื่นๆเพื่อให้เกิดความเขียวชอุ่มไปทั่วบริเวณรอบๆ
ในที่สุดก็กลายเป็น “วังเทพทาโร” ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
“วัง ในความหมายนี้คือ การล้อม การห้อมล้อม...วังเทพทาโร จึงหมายถึงสถานที่ที่ห้อมล้อมไปด้วยไม้ เทพทาโร” ครูจรูญกล่าวกับทีมงานของเรา ก่อนจะนำเดินชมบางส่วนของมังกรที่รายเรียงอยู่ในวังแห่งนี้
ตลอดเส้นทางเดินที่เดินผ่าน จะมีคำขวัญที่หยิบยกมาจาก “คำสอนของพ่อ” และปรัชญาหลายๆข้อของพ่อ รวมทั้งปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” มาตั้งไว้เป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมได้มีโอกาสทบทวนคำสอนที่พ่อแห่งแผ่นดินในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะนำไว้อีกครั้งหนึ่ง
แน่นอน คุณครูจรูญพาพวกเราทั้งหมดไปเดินลอดใต้ท้องประตูมังกร 9 ช่องด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคล และไปถ่ายรูปที่มังกรตัวที่ 88 ซึ่งเป็นตัวที่ใหญ่ที่สุดของ “วังเทพทาโร” และมีคำว่า “กราบแผ่นดิน” ตัวใหญ่อยู่บนหลังมังกรไว้เป็นที่ระลึกด้วย
ทำไมถึงเลือกที่จะประดิษฐ์เป็นตัวมังกรล่ะ ทั้งๆที่มีสัตว์อื่นๆอีกตั้งเยอะ? พวกเราถาม ซึ่งครูจรูญก็ตอบว่า “ทุกอย่างเหมือนถูกกำหนดไว้ครับ...ไม่มีเหตุ ไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น ผมคิดแต่ว่าต้องเป็นมังกรเท่านั้น ไม่เคยคิดถึงอย่างอื่น ในหัวสมองผมเลย”
ครูจรูญเล่าด้วยว่า แม้จะลงทุนสะสมไปแล้วเกือบ 20 ล้านบาท แต่ก็ไม่คิดจะเอาทุนคืน เพราะตั้งใจจะให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับไม้หอม “เทพทาโร” และปรัชญาต่างๆของในหลวง ร.9
รายได้บางส่วนมาจากการขายสินค้าโอทอปที่เป็นผลิตภัณฑ์ของไม้เทพทาโรบ้าง อย่างอื่นบ้าง ถือเป็นรายได้ทางอ้อมที่ประคองให้แหล่งเรียนรู้แห่งนี้สามารถดำเนินต่อไปได้
ทีมงานซอกแซกขอขอบคุณคุณครู จรูญ แก้วละเอียด ไว้ ณ ที่นี้...ขอบคุณสำหรับมรดกชิ้นเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่มากที่ครูสร้างไว้แก่เมืองตรัง และน่าจะแก่ประเทศไทยด้วย เพราะทราบว่าทุกวันนี้นอกจากจะมีคนไทยแวะเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจของไม้ชนิดนี้แล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวจีนจากมาเลเซีย และสิงคโปร์เช่ารถมาดูทุกวัน วันละหลายรถตู้
เพื่อจะมาถ่ายรูปกับมังกรที่ทำจากรากไม้เทพทาโรใน “วังเทพทาโร” อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง...ประเทศไทย.
“ซูม”