พระผู้ใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง มีชื่อเป็นที่กล่าวขาน ยังมีพระอธิการแก้ว เจ้าอาวาสวัดมหาพฤฒาราม ที่มีประวัติว่า รัชกาลที่ 4 นับถือมากอีกรูปหนึ่ง
(หมายเหตุประเทศสยาม เล่ม 5 เอนก นาวิกมูล สำนักพิมพ์ 959 พับลิชชิ่ง พ.ศ.2537)
เอนกเขียนว่า เรื่องของพระอธิการแก้ว อยู่ในหนังสือชื่อ ประวัติวัดมหาพฤฒาราม ไม่ระบุชื่อผู้แต่ง บนปกบอกว่า พระธรรมธราจารย์ เจ้าอาวาส พิมพ์แจกในงานฉลองเปิดป้ายซุ้มนามวัด ถนน ศาลา โรงเรียน และสะพานถนน ณ วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2476
หนังสือกล่าวว่า วัดมหาพฤฒาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้สะพานพิทยเสถียร (สะพานเหล็กล่าง) ไม่ปรากฏว่าใครสร้าง เดิมเป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็ก เรียกกันว่าวัดท่าเกวียน
แล้วกลายเป็นวัดตะเคียน
ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าฟ้ามงกุฎกำลังผนวชอยู่ ราษฎรเรียกท่านว่า “ทูลกระหม่อมพระ” วันหนึ่งท่านเสด็จมาพระราชทานผ้าป่าแก่พระอธิการแก้ว เจ้าอาวาสวัดตะเคียน
พระอธิการแก้ว เป็นคนอ้วนมีเนื้อหนังมาก ขณะนั้นท่านอายุถึง 107 ปี หนังตาเบื้องบนย้อยลงมาปิดดวงตาทั้งสองข้าง ก่อนจะดูอะไร ท่านต้องเอามือรั้งหนังตาที่ยานลงมานั้นขึ้น
แม้อายุมากปานนั้น แต่สติสัมปชัญญะท่านยังบริบูรณ์
เมื่อเสร็จการพระราชทานผ้าป่าแล้ว ทูลกระหม่อมพระได้เสด็จเข้าไปประทับใกล้ๆ
พระอธิการแก้วถามว่า “ทูลกระหม่อมประทับอยู่ที่ไหน”
“อยู่นี่” ทูลกระหม่อมพระรับสั่ง แล้วยื่นพระหัตถ์ไปสัมผัสตัวพระอธิการแก้ว ท่านอธิการวัดตะเคียนก็จับพระหัตถ์คลำๆ แล้วทูลถวายพยากรณ์ว่า “จะได้เป็นเจ้าชีวิต”
ทูลกระหม่อมพระก็รับสั่งว่า “ถ้าได้ครองแผ่นดินจริง จะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่”
...
ปี พ.ศ.2394 เจ้าฟ้ามงกุฎทรงลาผนวช และได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ปีรุ่งขึ้น คือปีชวด พ.ศ.2395 ก็ได้เสด็จมาทอดพระเนตรวัดตะเคียน และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) เป็นแม่กองจัดการสร้างวัดใหม่
ภายหลัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ทรงรับภาระจัดการต่อ แต่ก่อนลงมือสร้างวัด ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานสมณศักดิ์ ตั้งพระอธิการแก้ว เป็นพระมหาพฤฒาจารย์ ตำแหน่งพระราชาคณะสามัญ ระหว่างก่อสร้าง โปรดให้ย้ายไปพักอยู่ที่วัดปทุมคงคา
วัดใหม่ยังไม่ทันได้สร้างเสร็จ พระมหาพฤฒาจารย์ (แก้ว) ได้ถึงแก่มรณภาพลงเสียก่อน ขณะวัดตะเคียนสร้างไปบางส่วน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระปลัดสอน วัดปทุมคงคา เป็นพระครูธรรมจริยาภิรมย์ ย้ายไปครองวัดตะเคียนแทน
เมื่อวัดสร้างเสร็จ เพื่อให้เป็นอนุสาวรีย์แห่งพระมหาพฤฒาจารย์ (แก้ว) พระผู้เฒ่าซึ่งมีอายุยืนถึง 107 ปี โปรดให้ขนานนามชื่อวัดสร้างใหม่ ว่า วัดมหาพฤฒาราม
เรื่องของพระอธิการแก้วก็จบลง ส่วนวัดมหาพฤฒาราม ก็เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา
ในบรรยากาศที่คนในบ้านเมืองบางส่วน เหงาๆเศร้ากับข่าวไม่ดีของพระผู้ใหญ่หลายๆรูป
ผมว่าเรื่องของพระอธิการแก้ว เป็นเรื่องพระดี อ่านแล้วสบายใจ จึงตั้งใจคัดจากหนังสือคุณเอนก นาวิกมูล มาให้อ่าน เพื่อย้ำว่า พระดีๆอีกมากทั้งในอดีตถึงปัจจุบันยังมี พุทธศาสนาจึงจรรโลงคงมั่นมาได้ถึงวันนี้.
กิเลน ประลองเชิง