การ “เล่น” การเมืองในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องยาก ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการกระทำการต่างๆ แม้แต่คำพูดก็ต้องระวัง ตัวอย่างเช่น เมื่อหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่พูดถึงการ “ฉีก” รัฐธรรมนูญ หรือเมื่อแกนนำพรรคเพื่อไทยนั่งอ่านคำ แถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์ผลงาน 4 ปี ของรัฐบาล คสช. ก็โดนไปหลายข้อหา รวมทั้งข้อหาก่อความปั่นป่วน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี พูดถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้นิรโทษกรรมคดีการเมืองในยุค คสช. ว่าต้องติดตามดูว่าการดำเนินการใดๆเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และเตือนว่าจะทำอะไรต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญ การจะมาติติงให้ร้ายมันสมควรหรือไม่

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงว่า ถ้าพูดว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นปัญหา เป็นสิทธิเสรีภาพ แต่คำพูดที่รุนแรงเช่น “ฉีก” รัฐธรรมนูญอาจเป็นปัญหา พูดให้อยู่ในร่องในรอยดีที่สุด ขณะที่เลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า จะนำเสนอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นแนวนโยบาย หรือเป็นอุดมการณ์ของพรรค ก็นำเสนอประชาชนได้

คำว่า “ฉีก” รัฐธรรมนูญที่ใช้กันในสื่อ หมายถึงการใช้กำลังยึดอำนาจประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐบาล ล้มรัฐสภา เป็นการกระทำที่ครบเครื่อง ตามกฎหมายอาญามาตรา 113 เป็นความผิดฐานกบฏ คนทั่วไปห้ามทำ ถ้าทำไม่สำเร็จจะโดนข้อหากบฏ ทำได้เพียงคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจสำเร็จ แต่หากพลาดท่าก็จะเป็นกบฏ

นักการเมืองบางคนเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และบัญญัติให้ชัด ห้ามทำรัฐประหาร ห้ามยึดอำนาจ ถึงจะยึดอำนาจสำเร็จก็ห้ามออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตนกับพรรคพวก นั่นเป็นโลกสวยในอุดมคติ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้แล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ “ฉีก” ทิ้งรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติข้างต้น และออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเอง

...

รัฐบาล คสช. อาจไม่พอใจ เมื่อนักการเมืองพูดถึงการฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะกระทบอำนาจ คสช. โดยตรง โดยเฉพาะการยกเลิก ม.279 ที่ให้บรรดาคำสั่ง คสช. มีผลบังคับใช้ต่อไป หลังการเลือกตั้ง มีรัฐสภาและรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมือง และอื่นๆ การยกเลิก ม.นี้จะเท่ากับเป็นการหักเขี้ยวเล็บ หรือปลดอาวุธ คสช.

การโต้เถียงประเด็นการเมืองต่างๆ นำไปสู่คำถามเดิมๆที่ว่าถึงเวลาหรือยัง ที่รัฐบาล คสช.จะปลดล็อกพรรคการเมือง เพื่อให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และตาม กฎหมายพรรคการเมือง ที่ประกาศใช้มากว่าปีแล้ว เพื่อให้ประชาชนและนักการเมืองมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และแลก เปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆโดยเสรี.