เกษม วัฒนชัย
ในบรรยากาศบ้านเมืองที่อบอวลไปด้วยโกงกิน เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่ม อปท.แสดงความมาดมั่นกับกระบวนการขับเคลื่อนหลุดปากว่า อีกสองปีบ้านนี้เมืองนี้จะไม่มีคอร์รัปชัน
เป็นเจตนาดีที่ผมเห็นว่า เป็นไปได้แค่ความฝัน ผมมีภาพในใจ เด็กชายเล็กๆคนหนึ่ง วิ่งไปเก็บของตกริมถนน ย่านกินซ่า เมืองโตเกียว วิ่งตามไปถามหาเจ้าของ จึงตอบเพื่อนไปว่า
“ความฝันเป็นจริงเหมือนในญี่ปุ่นได้ หากเริ่มต้นจริงจังที่เด็กเล็กๆในโรงเรียน”
แต่หลายเรื่องที่เกิดขึ้น ผู้มีอำนาจ ข้าราชการ ครูอาจารย์ ที่ควรเป็น ต้นแบบเบ้าหลอมให้เด็กวันนี้ไม่มีวี่แววเลย อีกเมื่อไหร่เราจะไปถึงจุดที่ฝันนั้น
ในงานเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่แล้ว ท่านองคมนตรี นายเกษม วัฒนชัย ถือแผ่นพับสีเหลือง ขนาดฝ่ามือ ยื่นให้หลายคน ผมเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น หน้าแรกเขียนว่า พระบรมราโชบายด้านการศึกษา ในหลวงรัชกาลที่ 10
สำหรับผม นี่เป็น “ของสูง” มีค่าต่อจิตใจ อัญเชิญวางไว้บนชั้นหนังสือใกล้มือ
ผมเคยติดใจความหมายใหม่คำว่า “พลเมือง” ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่รัฐบาลไม่เอา...หนึ่งในพระบรมราโชบายมีความหมายคำว่าพลเมืองดี ให้ผมอ่าน ทบทวนหลายครั้ง
ครั้งนี้ ผมขออัญเชิญมาให้ช่วยกันอ่าน...ช่วยกันซึมซับรับรู้
การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน
ด้านที่ 1 มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ประกอบด้วย มีความรู้ความเข้าใจต่อชาติบ้านเมือง ยึดมั่นในศาสนา มั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความเอื้ออาทรต่อครอบครัว และชุมชนของตน
ด้านที่ 2 มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง–มีคุณธรรม ประกอบด้วย รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด–ชอบ/ชั่ว–ดี ปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ดีงาม ปฏิเสธสิ่งที่ผิด สิ่งที่ชั่ว ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง
...
ด้านที่ 3 มีงานทำ-มีอาชีพ ประกอบด้วย การเลี้ยงดูลูกหลานในครอบครัว หรือการฝึกฝนอบรมในสถานศึกษา ต้องมุ่งให้เด็กและเยาวชนรักงาน สู้งาน ทำจนงานสำเร็จ
การฝึกฝนอบรมทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตร ต้องมีจุดหมายให้ผู้เรียนทำงานเป็น และมีงานทำในที่สุด
ต้องสนับสนุนให้ผู้สำเร็จหลักสูตรมีอาชีพ มีงานทำ จนสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัว
ด้านที่ 4 เป็นพลเมือง ประกอบด้วย การเป็นพลเมืองดี ต้องเป็นหน้าที่ของทุกคน ครอบครัว–สถานศึกษาและสถาน
ประกอบการ ต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาส ทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี
การเป็นพลเมืองดี “เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ ก็ต้องทำ” เช่น งานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ งานสาธารณกุศล ให้ทำด้วยความมีน้ำใจและความเอื้ออาทร
ในพระบรมราโชบาย ในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ท่านองคมนตรี เกษม วัฒนชัย บันทึกไว้ ผมเห็นภาพชัดเจน คือ งานที่ทหารและอาสาสมัครร่วมกันฟื้นฟูคูคลองในกรุงเทพฯ คลองหลายแห่ง ตลิ่งสวย น้ำใส ขึ้นมาทันตา น่าชื่นใจ
แต่พระบรมราโชบายอื่น เช่น ข้อ 2 หลักการมีคุณธรรม... รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิดชอบชั่วดี ปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบที่ดีงาม ปฏิเสธสิ่งที่ผิด สิ่งที่ชั่ว และช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง...
ผมเห็นว่าในบ้านเมืองนี้ พอมีอยู่บ้าง แต่ยัง “น้อยไป”
กรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เลือกข้างเกรงใจ ข้าราชการกรมพัฒน์ ทุบหลังนักศึกษาฝึกงานที่เปิดโปงเรื่องโกงเงินคนไร้ที่พึ่ง...เป็นตัวอย่างยืนยัน
คนระดับอาจารย์ยังแยกชั่วดีไม่เป็น
ช่วยๆกันขับเคลื่อนพระบรมราโชบาย ในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้เกิดผลจริงจัง เด็กวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า เหมือนเด็กญี่ปุ่นได้ ไม่ใช่เรื่องแค่ความฝันอีกต่อไป.
กิเลน ประลองเชิง