ยังเป็นข่าวฮือฮาไม่เลิก กรณี เฟซบุ๊ก ยอมให้ อเล็กซานแดร์ โคแกน ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นำข้อมูลของผู้ใช้ในแอพพลิเคชั่นทดสอบบุคลิกภาพ “thisisyourdigitallife” ที่เขาสร้างขึ้นกว่า 3 แสนคนไปใช้ และ เฟซบุ๊ก ยังอนุญาตให้เก็บข้อมูลผู้ใช้งานรวมถึงเพื่อนหรือเนื้อหาและคนที่กดไลค์ ทำให้ โคแกน สามารถเข้าถึง ข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐฯถึง 50 ล้านคน ทั้ง ที่อยู่ สิ่งที่ชอบ สิ่งที่แชร์ เป็นต้น แม้ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก จะแถลงยอมรับผิด แต่เรื่องก็ยังไม่จบ
ปี 2015 โคแกน ได้ส่งข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊ก 50 ล้านคนให้กับ “เคม-บริดจ์ อนาไลติกา” (Cambridge Analytica) สำนักวิจัยด้านการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อสร้างแคมเปญหาเสียงให้พรรคการเมืองต่างๆทั่วโลก รวมทั้ง พรรครีพับริกัน ของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย
เรื่องทั้งหมดแดงขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ส สหรัฐฯ ร่วมกับหนังสือพิมพ์ ดิ อ็อบเซิร์ฟเวอร์ อังกฤษ ทำรายงานเปิดโปงเรื่อง มีการดึงข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในสหรัฐฯ 50 ล้านบัญชี ไปใช้ทำกิจกรรมสร้างแรงจูงใจช่วยเหลือนายโดนัลด์ ทรัมป์ หาเสียงเลือกตั้งในปี 2559 โดยการยิงข้อความที่ตรงใจกับบุคคลบนโลกออนไลน์ ซึ่งมิใช่เป็นการหาเสียงแบบทั่วไป
หลังตกเป็นข่าว อเล็กซานแดร์ โคแกน เปิดเผยกับ สำนักข่าวบีบีซี ว่า เรื่องอื้อฉาวที่ เคมบริดจ์ อนาไลติกา สามารถดึงข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กในสหรัฐฯ 50 ล้านบัญชี ไปจัดทำแคมเปญหาเสียงช่วยให้ ประธานาธิบดี ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในปี 2559 โดยใช้แอพ “ดิสอิสยัวดิจิทัลไลฟ์” เป็น “ทางผ่าน” นั้น เฟซบุ๊ก กับ เคมบริดจ์ อนาไลตินา มีเจตนาโยนความผิด ให้เขาเพียงคนเดียว
ขณะที่ นายคริสโตเฟอร์ ไวลี นักวิชาการชาวแคนาดา วัย 28 ปี ที่เคยทำงานกับ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อดีตคนในของ เคมบริดจ์ อนาไลติกา ผู้ออกมาแฉเรื่องนี้ได้เปิดเผยว่า เราใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊กในการล้วงประวัติผู้คนนับล้านๆคน จากนั้นก็สร้างโมเดลที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพวกเขา แล้วยั่วยวนปีศาจร้ายในจิตใจของพวกเขา
...
ใน ตำราพิชัยสงครามของซุนวู เขียนไว้ชัดเจนว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน บิ๊กดาต้าของเฟซบุ๊ก มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้ทุกอย่าง รู้ว่าชอบกินอะไร ชอบอ่านอะไร ชอบดูอะไร ชอบไปที่ไหน ชอบสีอะไร มีเพื่อนเป็นใคร เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้กับแคมเปญทางการเมือง ยิงข้อมูลตรงเป้าได้ถูกใจ เลือกตั้งกี่ครั้งก็ชนะหมด
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมกราคม 2561 เฟซบุ๊กมีผู้ใช้ทั่วโลก 2,167 ล้านคน อันดับ 1 อินเดีย 250 ล้านคน อันดับ 2 สหรัฐฯ 230 ล้านคน อันดับ 3 บราซิล อินโดนีเซีย ประเทศละ 130 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 67 ล้านคน เวียดนาม 55 ล้านคน ประเทศไทย 51 ล้านคนจากประชากร 68 ล้านคน เรียกว่าคนไทยใช้เฟซบุ๊กกันเกือบหมดประเทศ เหลือแต่เด็กแรกเกิดจนถึงอนุบาล 17 ล้านคนที่ไม่ได้ใช้เฟซบุ๊ก
ถ้ามี พรรคการเมืองไทย สามารถนำข้อมูลใน เฟซบุ๊ก มาใช้หาเสียงทางการเมืองได้แบบเดียวกับ เคมบริดจ์ อนาไลติกา ยิงข้อความที่โดนใจไปถึงผู้ออกเสียงที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วจากข้อมูลส่วนตัว รับรองว่าพรรคการเมืองนั้นมีหวังชนะขาดลอยแน่นอน
ในโลกออนไลน์ แม้จะมี “ของฟรี” มากมาย แต่สุดท้ายของฟรี เหล่านี้ “เราก็ไม่ได้มาฟรีจริง” ต้อง “แลกด้วยข้อมูลส่วนตัวเชิงลึก” ที่เจ้าของเว็บเจาะจากเราไปจนถึงก้นบึ้งของหัวใจโดยที่เราไม่รู้ตัว สุดท้าย “เรานั่นแหละคือของฟรี” ที่ เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ เอาไปหาเงินเข้ากระเป๋าจนรํ่ารวย โดยเฉพาะ กูเกิล ยูทูบ ว่ากันว่า มีข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้มากกว่าเฟซบุ๊ก เพราะเก็บข้อมูลผู้ใช้มานานกว่าเฟซบุ๊กมาก
สิ่งที่น่ากลัวบนโลกออนไลน์ก็คือ ความไม่ปลอดภัย ล่าสุด อันเดอร์ อาเมอร์ ผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาชื่อดังสหรัฐฯ ก็เพิ่งถูกแฮกเกอร์เจาะระบบขโมยข้อมูลลูกค้าไปกว่า 150 ล้านคน
วันนี้ รัฐบาลไทย กำลังจะทำ “บิ๊กดาต้า” กันยกใหญ่ น่าเป็นห่วงก็คือ เรื่องความปลอดภัย ถ้าทำแบบไทยๆ ระวังข้อมูลจะถูกแฮ็กทั้งประเทศ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”