กฎหมายต่างๆที่ผ่านความเห็นชอบของแม่น้ำทั้งห้าสาย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือแม้แต่ คสช.เอง มักจะมีปัญหาการตีความ และกระทบต่อกำหนดการเลือกตั้ง ล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเป็นองค์กรอิสระมีมติว่าคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ที่แก้ไขกฎหมายพรรคการ-เมือง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต้องให้ศาลวินิจฉัย

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติ หลัง จากได้รับคำร้องจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย เนื่องจากคำสั่ง คสช.แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ให้สมาชิกพรรคเดิมยืนยันตนพร้อมด้วยหลักฐานแสดงคุณสมบัติ และเสียค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน มิฉะนั้น จะขาดจากการเป็นสมาชิก ทั้ง ยังให้พรรคทำกิจกรรมสำคัญๆ ให้เสร็จภายใน 90 วัน ถ้าทำไม่ได้จะถูกยุบพรรค

ฝ่ายผู้ร้องคือพรรคการเมืองและ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของสมาชิกพรรค และมีเวลากระชั้นชิด นอกจากการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค ยังมีจัดประชุมใหญ่เพื่อจัดทำข้อบังคับพรรค การจัดทำคำประกาศอุดมการณ์พรรค เลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน เป็นการเพิ่มภาระเกินสมควร

กฎหมายพรรคการเมืองที่ประกาศ ใช้แล้ว ระบุว่า ให้สมาชิกแต่ละพรรคเป็นสมาชิกต่อได้อีก 4 ปี แต่ คสช.แก้ไขให้ยืนยัน สมาชิกภาพภายใน 30 วัน มีเสียงวิจารณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อพรรคเก่าและพรรคใหญ่ๆ เท่ากับเป็นการโละทิ้งหรือเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรค ตัวอย่างเช่นพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกถึง 2.6 ล้านคน ต้องไปขอคำรับรองจากหน่วยราชการถึง 19 หน่วย

ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แจงว่าจะต้องยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 30 มีนาคม หากศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วย คำร้องก็จะตกไป หรือถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่วินิจฉัยภายในวันที่ 1 เมษายน พรรค การเมืองก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ต่อไป แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำสั่ง คสช.ขัดต่อรัฐธรรมนูญก็อาจสั่งยกเลิกคำสั่งตามหลักการรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

...

เรื่องนี้เป็นกรณีตัวอย่างของการ ออกกฎหมายภายใต้รัฐบาล คสช. ซึ่งมาจากรัฐประหาร มักจะไม่ยึดถือหลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด และต่างฝ่ายต่างทำ กรธ.เป็นผู้เขียนกฎหมาย แต่ สนช.เป็นผู้แก้ไข นำไปสู่การยื่นเรื่องให้ศาลวินิจฉัย และกระทบต่อโรดแม็ปการเลือกตั้ง อย่างกรณีนี้ กรธ.และ สนช.เป็นผู้ออกกฎหมาย ส่วน คสช.เป็นผู้แก้ไข

ส่วนใหญ่เป็นการออกและแก้ไขกฎหมาย โดยองค์กรของฝ่าย คสช.ฝ่ายเดียว ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่ผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน และเป็นระบบ ไม่มีการเปิดเผยผลการรับฟังความเห็นประชาชน หรือผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่เขียนบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 77 จนถูกมองว่าคำสั่ง คสช.ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ.