กระแสโลกาภิวัตน์กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อสังคมไทย ทำให้การกระทำผิดต่อบุคคลต่อสังคมมีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยที่ก่อโดยองค์กรอาชญากรรม บุคคลที่มีอิทธิพลด้านการเงิน เทคโนโลยีและการเมือง อีกทั้งในช่วงเวลากว่าสิบปีมานี้ความแตกแยกทางการเมืองได้ฝังรากลึก ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมฟังกัน แม้กระทั่งคดีความที่ขึ้นสู่ศาลก็มีการปลุกปั่นให้คาดเดาไปต่างๆนานา

เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคม วันนี้ผมขอนำคำพูดของ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ที่กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทและภารกิจของศาลยุติธรรม” ในโอกาสเปิดการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 22 เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว มาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพกัน

ประธานศาลฎีกากล่าวว่า กฎหมายเกี่ยวกับศาลทุกฉบับไม่มีคำว่าผู้บังคับบัญชา ศาลทำงานในรูป องค์คณะ พิจารณาพิพากษาคดี ทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน มีสิทธิมีเสียงเท่ากัน ไม่มีใครมีอิทธิพลเหนือใครทั้งในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา แม้แต่ประธานศาลฎีกาก็ไม่มีสิทธิไปดลบันดาลให้ใครชนะคดี ตอนเป็นองค์คณะยังมีอย่างน้อย 1 เสียง แต่พอเป็นประธานศาลฎีกาแล้วภาษาชาวบ้านเรียกว่าขาลอย เพราะไม่มีสิทธิออกเสียง

วัฒนธรรมองค์กรของศาลยุติธรรมใช้หลัก อาวุโสเคร่งครัด การเติบโตในสายงานเลื่อนไหลไปตามอายุ ผู้พิพากษารุ่นพี่ไม่สามารถให้ความดีความชอบ ไม่สามารถชี้ต้นตายปลายเป็นรุ่นน้องได้ จึงไม่มีรุ่นน้องมาเข้าหา หัวหน้าศาลนั้นมีหน้าที่แจกจ่ายคดีให้องค์คณะไปพิจารณา เมื่อจ่ายสำนวนแล้วก็ไม่สามารถไปสั่งอะไรได้

กีฬามีแพ้ มีชนะ และเสมอ แต่การตัดสินคดีในศาลมีแค่แพ้กับชนะ ฝ่ายที่แพ้ย่อมไม่ยอมรับคำพิพากษา และคิดไปต่างๆนานา คิดว่ามีการวิ่งเต้นให้สินบนหรือเปล่า ซึ่งทุกคนมีสิทธิคิด แต่ในความจริง ศาลไม่ได้รู้จักใคร ไม่ได้เข้าข้างใคร ไม่ได้มีส่วนได้เสีย เมื่อก่อนมีนักศึกษาปริญญาโทมาถามว่าศาลวิ่งเต้นได้ไหม วิ่งคดีได้หรือเปล่า ก็ได้บอกไปว่า “ถ้าวิ่งเต้นได้คนรวยคงไม่เข้าคุก คนมีสตางค์เยอะๆคงไม่ต้องหลบหนีไปอยู่ที่อื่น”

...

ประธานศาลฎีกาเล่าด้วยว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ทำคดีอาญานักการเมืองหลายคดี องค์คณะมี 9 คน เสียงข้างมากคือ 5 เสียง ถ้าวิ่งเต้น 5 คน จ่ายคนละร้อยล้านพันล้านบาท เชื่อว่านักการเมืองมีสตางค์พร้อมจ่าย ซึ่งถ้าวิ่งเต้นคดีได้จริง ผลคดีคงไม่ออกมาอย่างที่เห็นกันอยู่นี้ ตอนนั้นเคยมีคนถามว่าถูกกดดันไหม มีใบสั่งไหม โดนขู่ไหม ขอบอกว่าไม่มีเลย นอนหลับสบาย ไม่ต้องมี รปภ.ที่บ้าน ยังขับรถเอง ไปไหนมาไหนคนเดียว และองค์คณะคนอื่นก็เหมือนกัน ตัดสินแล้วก็จบ ไม่มีความกดดันอะไรเลย

การทำงานของศาลเป็นศาสตร์ที่ยากที่สุด อย่างหมอหรือนักบินยังมีอุปกรณ์เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ช่วย แต่การพิจารณาคดีทั่วโลกไม่มีตัวช่วยอะไรเลย ทุกอย่างอยู่ที่เอกสารพยานหลักฐาน มีคำกล่าวว่า ศาลคือศาลาโกหก เรื่องเดียวกันโจทก์พูดอย่างจำเลยพูดอย่าง ศาลเชื่อใครก็ตัดสินไปทางนั้น และแม้ศาลฎีกาตัดสินตรงข้ามกับศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น ก็ไม่ได้หมายความว่าศาลอุทธรณ์กับศาลชั้นต้นบกพร่อง แค่ศาลฎีกาตัดสินเป็นคนสุดท้าย หากมีศาลที่ 4 อาจตัดสินตรงข้ามกับศาลฎีกาก็ได้ แต่บังเอิญสังคมทั่วโลกกำหนดให้ศาลฎีกาเป็นด่านสุดท้ายเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ศาลฎีกาเคยตัดสินอย่างไร ก็ไม่ได้มีผลผูกพันองค์คณะในปัจจุบันต้องตัดสินเหมือนกัน ผู้พิพากษามีอิสระในการตัดสินคดี แต่ไม่ใช่ตัดสินตามอำเภอใจ

ผมนำสาระสำคัญมาถ่ายทอดไว้ที่นี้ อ่านแล้วทุกท่านคงยิ่งกระจ่างขึ้นว่าทำไมสังคมจึงไว้วางใจและพึ่งหวังศาลยุติธรรมได้มากที่สุด.

ลมกรด