ผมเคยเขียนเอาไว้หนหนึ่งเมื่อเดือน 2 เดือนก่อนว่า ถ้าประเทศเราจำเป็นจะต้องกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบอีกครั้งหนึ่งก็คงต้องยอมรับ

แม้ในทางหลักการและมองจากศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ควรจะถือเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะมนุษย์ในยุคนี้ควรจะเป็นยุคประชาธิปไตยเต็มใบอย่างเดียวเท่านั้น

แต่เมื่อมองจากข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้ สำหรับประเทศไทยที่ความรู้เรื่องประชาธิปไตยของผู้คนยังล้าหลัง และจิตใจแห่งความเป็นประชาธิปไตยยังไม่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนมากนัก เพราะผู้คนจำนวนไม่น้อย ยังชอบทำอะไรตามใจตัวเองอย่างที่เห็นๆกันอยู่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้

การอะลุ่มอล่วยพบกันครึ่งทาง หรือเป็นประชาธิปไตยเพียงครึ่งเดียว จึงเป็นทางออกที่พอจะยอมรับได้ในเงื่อนไขที่จะต้องไม่เนิ่นนานเกินไป

ขณะเดียวกันก็จะต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญด้วยว่า ในช่วงเวลาอันไม่ควรจะนานนักที่ว่านี้ ควรเป็นช่วงสำหรับการเรียนรู้ หรือฝึกการปฏิบัติให้ผู้คนที่ยังรู้เรื่องหลักการของประธิปไตยไม่ถ่องแท้นักหันมารู้และปรับตัวเองให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

ผมเขียนไว้ด้วยว่า ประเทศไทยเราเคยทดลองใช้ประชาธิปไตยครึ่งใบมาแล้วครั้งหนึ่ง และก็ดูเหมือนว่าในระหว่างทดลองใช้ระบอบนี้การพัฒนาบ้านเมืองค่อนข้างจะไปได้ดีพอสมควร จึงเกิดเสียงเรียกร้องอยากให้เรากลับไปใช้ระบอบนี้กันอีกครั้ง

ตัวอย่างประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีผลดีต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองที่พูดกันอยู่เสมอ คือในยุคที่ “ป๋าเปรม” พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศไทยวุ่นวายน้อยที่สุด และเดินหน้าพัฒนาประเทศได้ดีที่สุด

ผมสรุปว่า หากเรามองย้อนหลังกลับไปจะพบว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นแม้จะมีผลมาจากประชาธิปไตยครึ่งใบก็จริง แต่ก็ขึ้นอยู่กับ “ความเป็นผู้นำ” และการวางตนของ พล.อ.เปรม ค่อนข้างมาก

...

ท่านยอมรับเงื่อนไขว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบนั้น ต้องครึ่งมาทางประชาธิปไตย ฉะนั้นการแสดงออกซึ่งความคิด ความเห็นของประชาชนจึงทำได้เต็มที่

การอภิปรายของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรก็ทำได้เต็มที่ การวิพากษ์วิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ต่างๆก็เต็มที่

หลายครั้งที่กระทบกระทั่ง ทำให้ท่านโกรธ ท่านเจ็บปวด แต่ท่านก็จะเก็บไว้ในใจ ควบคุมอารมณ์เอาไว้ ไม่แสดงออกมาให้สาธารณชนเห็น

ในทางบริหารงาน ท่านเป็นคนสุขุมลุ่มลึก ตัดสินใจเฉียบขาด ประกอบกับโชคดีได้ “ข้าราชการวิชาการ” หรือ “บูโร แครต” มาเป็นรัฐมนตรีหลายท่านในยุคแรกๆ เช่น ปู่สมหมาย ฮุนตระกูล, ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์, ดร.อาณัติ อาภาภิรม ฯลฯ และได้เลขาธิการสภาพัฒน์ ที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์สภาพัฒน์ เพราะมองรอบด้านทั้งเศรษฐกิจและสังคม อย่าง ดร.เสนาะ อูนากูล มาเป็นแม่ทัพฝ่ายราชการ

วันนี้ผมนึกออกอีกประเด็นหนึ่งถึงเงื่อนไขของความสำเร็จของป๋าเปรมในการดึง “เพื่อน” ที่ท่านคุ้นเคยสนิทสนมมาร่วมทำงาน

จะเห็นว่าท่านเลือกเพื่อนที่ไม่มีปัญหา และไม่สร้างปัญหาใดๆทั้งสิ้น มีแต่จะเสริมบารมีท่านเสียอีก เช่น พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกฯและรัฐมนตรีมหาดไทย ที่คนรักทั้งเมือง เป็นต้น

เพื่อนอย่าง ร.ต.ท.ชาญ มนูธรรม นักกฎหมายที่อาจไม่โดดเด่นนัก แต่ก็ไม่ทำให้ท่านเสียหาย และเป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีที่สอบผ่านคนหนึ่ง หรือเพื่อนอย่าง เรืออากาศโท ศุลี มหาสันทนะ ที่มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯหลายสมัย ก็ช่วยท่านดูแลวางรากฐานเรื่องพลังงานมาจนถึงวันนี้

สิ่งละอันพันละน้อย แต่เป็นเงื่อนไขสำคัญเหล่านี้เองที่ทำให้ประชาธิปไตยครึ่งใบในสมัยป๋าเปรมประสบผลสำเร็จ

ใครที่อยู่ในฐานะที่จะมีโอกาสจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบครึ่งใบในยุคใหม่ จึงต้องกลับไปย้อนดูเงื่อนไขความสำเร็จเหล่านี้อีกครั้ง

หยิบยกเป็นข้อๆมาดูกันเลยตั้งแต่ครึ่งใบทางประชาธิปไตย อดทนอดกลั้นไม่โมโหโทโส รวมไปถึงการสำรวจดู “เพื่อนๆพี่ๆ” ของตัวเองด้วย ถ้าจะหิ้วกันต่อไป

โดยเฉพาะกรณีหิ้วเพื่อนหรือพี่นั้น ถ้าไม่มีคุณสมบัติเหมือนอย่าง พล.อ.ประจวบ เพื่อนรักของป๋าเปรมละก็ อย่าหิ้วเลยครับ...แค่เงื่อนไขข้อนี้ข้อเดียวก็จะไปไม่รอดแล้วล่ะ.

“ซูม”