นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ  -  ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ปัญหาที่ว่าอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะขอลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศได้หรือไม่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่าคงขอลี้ภัยได้ โดยอ้างเป็นผู้นำประเทศที่ถูกยึดอำนาจ และถูกดำเนินคดีการเมือง แต่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย มองว่าคดีลี้ภัยการเมืองไม่เป็นไปโดยอัตโนมัติ ต้องแยกกันระหว่างนักการเมืองกับคดีการเมือง

ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกจะยึดหลักการจะอนุญาตให้นักการเมืองขอลี้ภัยได้ หากอ้างว่าจำเป็นต้องลี้ภัย เนื่องจากต้องภัยการเมือง โลกในปัจจุบันเป็นโลกประชาธิปไตยในบรรดาสมาชิกสหประชาชาติกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นประชาธิปไตย แม้แต่เผด็จการเต็มใบแบบเกาหลีเหนือก็เรียกตัวว่า “ประชาธิปไตยประชาชน”

ประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ อาจจะไม่ยอมรับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบที่มิใช่ประชาธิปไตย และยินดีอ้าแขนรับ
ผู้นำประเทศประชาธิปไตยที่ถูกยึดอำนาจโดยรัฐประหาร แม้ผู้นำนั้นๆจะถูกดำเนินคดีอาญา เช่นการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งไม่ใช่คดีการเมือง ยิ่งกว่านั้นชื่อ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ต่างชาติก็อาจมองว่าเป็นคดีการเมือง

รัฐบาลจะต้องชี้แจงประชาคม โลกให้เข้าใจ ศาลที่พิพากษาให้จำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี ไม่ใช่ศาลพิเศษ
ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคิดบัญชีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่เป็นศาลที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับศาลยุติธรรมทั่วไป เพียงแต่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่นักการเมืองที่ถูกกล่าวหากระทำผิดทางอาญา เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ว. และ ส.ส.

เป็นศาลที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการเมืองไทยที่สำคัญ นั่นก็คือในอดีตกระบวน การยุติธรรมปกติมักจะไม่สามารถเอาผิดนักการเมืองได้ เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจ และเป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจและอัยการ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงแก้ไขให้ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระเป็นผู้ไต่สวนคดีอาญาที่เกี่ยวกับนักการเมือง และส่งอัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลฎีกา ถือว่าคดีถึงที่สุด

...

มีเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายว่าขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเป็นระบบศาลเดียว คำพิพากษาของศาล
ฏีกาถือว่าถึงที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมาเช่นฉบับ 2560 จึงเปลี่ยนแปลงใหม่ให้จำเลยอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ แต่จำเลยต้องมายื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง และให้คดีการทุจริตไม่มีอายุความ ใครหนีต้องหนีตลอดชีวิต

นับตั้งแต่มีศาลฎีกาแผนกคดี อาญาของนักการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2540 สามารถนำนักการเมืองผู้ถูกกล่าวหา ส่วนใหญ่เป็นคดีการทุจริตฟ้องร้องต่อศาลฎีกา มีนักการเมืองระดับรัฐมนตรีติดคุกหลายคน ล่าสุดคือคดีอดีต 2 รัฐมนตรี และ 1 อดีตนายกรัฐมนตรี พิสูจน์ชัดเจนว่าเป็นระบบตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ขยาดกลัวของนักการเมือง.