หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดี อาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 3 ปี ฐานปล่อยปละ ละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว มีเสียงวิจารณ์จากบางสายว่า เป็นครั้งแรกที่ระดับนายกรัฐมนตรีถูกพิพากษาติดคุก เพราะดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ที่แถลงต่อรัฐสภา

มีเสียงวิจารณ์ด้วยว่า ประชานิยม ไม่น่าจะเป็นความผิดทางกฎหมาย เพราะเป็นนโยบายรัฐบาลที่หาเสียงและสัญญาต่อประชาชน แม้จะมีการบริหารที่ผิดพลาด และก่อความเสียหาย โครงการต่างๆเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการรักษาระดับราคายางพารา ข้าวโพด ลำไย หรือการประกันราคาข้าว ล้วนแต่ต้องขาดทุนหรือเสียหาย แต่รัฐบาลไม่ต้องรับผิด

คำพิพากษาของศาลไม่ถือว่าความเสียหาย หรือการทุจริตที่เกิดขึ้นในขั้นตอนต่างๆของโครงการรับจำนำข้าว
เป็นเหตุให้อดีตนายกรัฐมนตรีมีความผิด ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินเกินวงเงินที่ ครม.อนุมัติ 5 แสนล้านบาท หรือการขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท การสวมสิทธิ์จำนำ การนำข้าวต่างชาติมาสวมสิทธิ์ ข้าวสูญหาย หรือข้าวเน่า

แต่เหตุสำคัญที่ศาลพิพากษาว่าจำเลยผิด คือการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ในการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งเป็นของไม่จริง แต่เป็นการเล่นแร่แปรธาตุ นำข้าวที่รับจำนำมาในราคาแพง ไปขายให้พ่อค้าข้าว เพื่อขายฟันกำไรภายในประเทศ ตันละ 3 พันบาท และนายกรัฐมนตรีก็รู้เห็น แต่ไม่ได้ระงับยับยั้ง เพียงแต่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแค่เป็นพิธี

คำพิพากษาไม่ได้บอกว่า นโยบายประชานิยม เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ในโลกแห่งความเป็นจริง ทุกรัฐบาลต่างแก้ปัญหาด้วยประชานิยม ต่างกันเพียงแต่ว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล หรือเป็นประชานิยมสุดกู่ ตัวอย่างเช่นการซื้อข้าวทุกเมล็ด ในราคาตันละ 15,000 บาท ต้องใช้งบปีละหลายแสนล้านบาท และขาดทุนปีละมหาศาล จนในที่สุดไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวให้ชาวนา

...

บทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งจากคำพิพากษา ไม่เฉพาะในคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่รวมถึงคดีอดีตรัฐมนตรี 2 คน ข้าราชการระดับสูง และพ่อค้าอีกหลายคน ที่ถูกพิพากษาให้จำคุกคนละกว่า 30 ปี จนถึง 48 ปี เนื่องจากมีการทุจริตในการดำเนินนโยบายที่มุ่งช่วยเหลือชาวนา แต่ขณะเดียวกัน ผู้ดำเนินนโยบายก็อาจได้ประโยชน์เป็นเงินมากกว่าชาวนาหลายเท่า

เป็นการทุจริตคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า “การทุจริตเชิงนโยบาย” เป็นวิธีการยอดนิยมของนักธุรกิจการเมือง ที่ถือว่าการเมืองคือการลงทุน เพราะมีการลงทุนมหาศาล ทั้งในการทุ่มซื้อผู้สมัคร ส.ส.เด่นดัง ซื้อเสียงประชาชน จึงต้องถอนทุนพร้อมดอกเบี้ยและกำไรจากโครงการหรือนโยบายรัฐที่มีการใช้จ่ายเงินมหาศาลจากภาษีประชาชน.