อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นข่าวฮือฮาอีกครั้ง หลังจากที่เงียบหายไปนานหลายปี คราวนี้โผล่มาโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ความว่า “มงแต็สกีเยอเคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีความเลวร้ายใด ที่ยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามกระบวนการยุติธรรม” ไม่ทราบว่าโจมตีรัฐบาลหรือกระบวนการยุติธรรม
มีคำอธิบายจากอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านทางหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ว่ามงแต็สกีเยอหมายถึงการใช้กฎหมาย เพื่อละเมิดบุคคลอื่น เลวร้ายกว่าการทำร้ายบุคคลโดยไม่ใช้กฎหมาย อธิบายความว่า การใช้กฎหมายโดยมิชอบ เป็นการทำลายสถาบันยุติธรรม และทำให้เสื่อมศรัทธาระบบยุติธรรม
ในหนังสือชื่อ “ทฤษฎีการเมืองยุคใหม่” ศ.พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง ซึ่งเป็นนักเรียนฝรั่งเศส เรียกชื่อนักปรัชญาเมธีฝรั่งเศสท่านนี้ว่า “มองเตสกิเออ” มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 2232 ถึง 2298 ตรงกับ ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาของไทย เป็นเจ้าของทฤษฎีประชาธิปไตยเรื่องสำคัญ คือการแยกอำนาจการปกครอง เป็นนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ
มองเตสกิเออกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนผู้มีอำนาจ มักจะลุแก่อำนาจและเป็นอย่างนี้เรื่อยไป การลุแก่อำนาจอาจถูกขัดขวางได้ก็แต่โดยการใช้อำนาจมายับยั้งอำนาจด้วยกัน เป็นที่มาของการแบ่งแยกอำนาจเป็น 3 ฝ่าย แต่ละอำนาจต้องตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ จนครอบงำอำนาจอื่นๆ และกลายเป็นเผด็จการ
กล่าวกันว่า สหรัฐอเมริกานำหลัก การแยกอำนาจไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของตนเป็นประเทศแรก รัฐธรรมนูญไทยก็ยึดหลักการแยกอำนาจมาโดยตลอด แต่เป็นระบบรัฐสภา ไม่ได้แบ่งแยกอำนาจเด็ดขาด เพียงแต่แบ่งอำนาจหน้าที่กันทำ ในทางทฤษฎีหวังว่าอำนาจนิติบัญญัติจะตรวจสอบอำนาจบริหาร ซึ่งมีอำนาจมากที่สุด คุมการจ่ายงบประมาณปีละเกือบ 3 ล้านล้านบาท
...
แต่ในทางปฏิบัติ ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลไทยส่วนใหญ่ กลายเป็นผู้คุมอำนาจนิติบัญญัติ เพราะทั้งสองฝ่ายมาจากพรรคเสียงข้างมากด้วยกัน และโดยปกติหัวหน้าพรรคจะเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนรัฐมนตรีอื่นๆเป็นระดับผู้นำในพรรค รัฐบาลเป็นลูกพี่ ส่วน ส.ส.กลายเป็นลูกน้อง ใครจะไปกล้าตรวจสอบเจ้าของพรรค หน้าที่หลักของ ส.ส. จึงได้แก่การยกมือให้รัฐบาลในทุกเรื่อง
คณะนักปฏิรูปการเมืองผู้เขียนรัฐธรรมนูญ 2540 จึงสร้างองค์กรตรวจสอบใหม่ๆขึ้นมามากมาย ทั้งองค์กรอิสระและศาลต่างๆ เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจ โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร แต่เคยมีนักการเมืองใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระ บางองค์กรถูกครอบงำ แม้แต่ในขณะนี้ก็ยังมีข่าวการ พยายามแทรกแซงองค์กรอิสระ ทั้งในการแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่.