มีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาล คสช.กำลังสร้างความประทับใจให้ประชาชนชาวไทยประจักษ์ว่าเอาจริงเอาจังในการปราบปรามการคอร์รัปชัน และปราบปรามอย่างเด็ดขาดรวดเร็ว ตัวอย่างเช่นการใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งให้ข้าราชการ 70 คน หยุดการปฏิบัติหน้าที่เพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาทุจริต เชื่อว่าเป็นผลงานการตั้งศูนย์ร้องเรียน 74 แห่งทั่วประเทศ

เป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน ในสังกัดกระทรวงกลาโหม หรือศูนย์ร้อง เรียนของทหารนั่นเอง นอกเหนือจากองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชันอื่นๆ เช่น ป.ป.ช., ป.ป.ท. และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นต้น รายงานข่าวแจ้งว่าข้าราชการที่โดน ม.44 คราวนี้ ส่วนใหญ่สังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

น่าสังเกตว่าในบรรดาข้าราชการที่ถูกสั่งพักราชการ ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารแม้แต่คนเดียว ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการและบริหารของ อปท. จึงมีเสียงโวยวายว่าทำไมจึงมุ่งแต่ อปท. และร้องเรียนด้วยว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ผู้บริหารสังกัด อปท.ถูกสั่งพักราชการรอบแรกหลายคน จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่

เรื่องราวข้างต้นแสดงถึงความเอาจริงในการตรวจสอบการทุจริตในวงข้าราชการ เปรียบเทียบกับการร้องเรียนจากนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหาว่ารัฐมนตรีคนหนึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์กองทัพบก บินจาก กทม.ไปพบเจ้าของโรงสีข้าวแห่งหนึ่งที่กำแพงเพชร เป็นโรงสีที่ประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ถามว่ามีภารกิจลับอะไรหรือ?

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องข้าวเช่นเดียวกัน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่าในการระบายข้าวของรัฐบาล เป็นข้าวคุณภาพดี แต่รัฐบาลกลับขายเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ ส.ส.พรรคเพื่อไทยอีกคนหนึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบ กรณีที่มีการกล่าวหามีการนำข้าวไปหมุนเวียนขายกิน “เงินทอน” ส่วนต่าง

...

แต่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศชี้แจงว่า นับแต่รัฐบาลนี้บริหารประเทศมากว่า 3 ปี มีคณะทำงาน 100 ชุด ออกไปตรวจสอบคุณภาพข้าวในโกดังทั่วประเทศ และมีการลงนามรับรองในเอกสารถูกต้อง จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสอบซํ้า ส่วนโฆษกรัฐบาลตอบโต้ว่าข้อกล่าวหาเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง เพื่อให้เป็นผลดีต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีรับจำนำข้าว

เป็นเรื่องของการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ รัฐบาลจะต้องกระทำด้วยความโปร่งใส และปฏิบัติต่อทุกฝ่ายโดยเสมอหน้า ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่สองมาตรฐาน และควรให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้ตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช., ป.ป.ท.หรือ สตง. ไม่ควรมีหน่วยงานพิเศษซํ้าซ้อน สับสนเสี่ยงต่อการเลือกปฏิบัติ.