รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินหน้าปั้นดิจิทัลชุมชน ปลุกประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ หวังลดปัญหาแรงงานกระจุกตัวเมืองหลวง…

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอทีพีซี) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนาและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 ณ เขาใหญ่คีรีธารทิพย์ รีสอร์ท จ.นครราชสีมา โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "มิติใหม่ กระทรวงดีอี"

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงดีอี เปิดเผยว่า การเปลี่ยนชื่อจากกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลนั้น เป็นการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ดิจิทัลเป็นการพัฒนาทั้งเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้ขอบเขตของทั้ง 2 ชื่อยังมีความแตกต่างกันด้วยจากเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน ปลายทางของดิจิทัลคือการทำให้ผู้ใช้บริการของภาครัฐได้รับความสะดวกจากการให้บริการอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม หากพูดถึง อี-ซิติเซน (e-Citizen) ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญแม้จะถูกกล่าวถึงมานานกว่า 20 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นปัจจัยในการกำหนดรูปแบบการให้บริการประชาชนด้วย

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของเทคโนโลยีไอที คือ การส่งข้อมูล การสร้างปฏิสัมพันธ์ และการทำธุรกรรม ไม่ว่าระยะเวลาจะเปลี่ยนไปนานเพียงใดก็ยังประกอบด้วย 3 ปัจจัยดังกล่าวอาจมีความแตกต่างเพียงมิติความลึกเท่านั้น ทั้งนี้มองว่าภายใน 5 ปีจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์อีกด้านที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงสื่อมวลชนอย่างไร ซึ่งสื่อมวลชนทุกแขนงจะต้องมีการนำเสนอข่าวสารให้เกิดความน่าสนใจและก้าวทันเทคโนโลยี

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งต้องเริ่มต้นจากระบบการศึกษา ซึ่งหากสังคมไม่เข้มแข็ง แรงงานที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงอาจก่อให้เกิดปัญหาในเมืองใหญ่ และส่งผลกระทบต่อปัญหาในชนบทที่มีแต่คนสูงวัยได้ ดังนั้น กระทรวงดีอีจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ห่างไกลในโครงการเน็ตประชารัฐ (โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง) ที่ปีนี้ได้ให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทุกหมู่บ้าน โดยตั้งเป้า 24,700 หมู่บ้าน และรวมกับหมู่บ้านที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างเร็วที่สุด

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังติดตั้งอยู่ขณะนี้ กระทรวงดีอีจะเดินหน้าโครงการดิจิทัลชุมชนคู่ขนาน ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้ด้วยการสร้างนวัตกรรม การลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดอี-คอมเมิร์ซระดับชุมชน แม้จะยากในระดับชาวบ้าน แต่หากทำได้จริงจะสามารถลดปัญหาพ่อค้าคนกลาง ทั้งการขนส่ง การขาย การเข้าถึงลูกค้าด้วยช่องทางดิจิทัลที่ก่อให้เกิดพื้นที่กลางในการซื้อขายโดยง่าย สิ่งสำคัญคือการนำเสนอวิธีคิดที่ง่าย สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้โดยเร็วเพื่อสนับสนุนให้เกิดศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งอาจขยายสู่รูปแบบการท่องเที่ยวได้ด้วย แม้รูปแบบดังกล่าวจะดำเนินงานได้ยาก แต่เชื่อว่าสามารถทำได้

"กระทรวงไอซีทีไม่ได้หายไป แต่โครงสร้างประเทศไทยแตกต่างจากในต่างประเทศซึ่งมีความพร้อมสูง อำนาจที่สามารถดำเนินการได้ คือ มีคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีสำนักงานคณะกรรมการ มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และกองทุนเพื่อดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ".

...