ประสิทธิภาพในการนอนหลับให้ง่ายขึ้น ด้วยฟีเจอร์ Night Shift บน iPhone ดูจะไม่มีประโยชน์มากนัก จากการเปิดเผยของผลวิจัยล่าสุดของ Brigham Young University

ผู้ใช้งาน iPhone น่าจะเคยได้ยินฟีเจอร์ที่มีชื่อว่า Night Shift โดยมีคำอธิบายว่า การใช้งานฟีเจอร์นี้อาจช่วยทำให้การนอนทำได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี คำโฆษณาดังกล่าวมีโอกาสไม่เป็นความจริงมากนัก เมื่อมีงานวิจัยที่ระบุว่า การกรองแสงสีฟ้าจากมือถือด้วยฟีเจอร์ Night Shift ไม่ได้ผล เพราะการนอนของมนุษย์มีความสลับซับซ้อน และการใช้งานฟีเจอร์ Night Shift แค่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยเหลือให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

งานวิจัยเกี่ยวกับการนอนถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Sleep Health โดยเปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้ติดตามพฤติกรรมการนอนหลับของคนหนุ่มสาวเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์จำนวน 167 คน อายุระหว่าง 18 ถึง 24 ปี พร้อมกับแบ่งกลุ่มผู้ทดสอบออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ใช้โทรศัพท์เป็นเวลา 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน พร้อมกับเปิดฟีเจอร์ Night Shift กลุ่มที่สองเหมือนกันเพียงแต่ปิด Night Shift และกลุ่มสุดท้ายไม่ใช้มือถือก่อนนอน

แชด เจนเซน (Chad Jensen) หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ Night Shift รวมถึงการไม่ใช้มือถือก่อนเข้านอน

นักวิจัย เน้นว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาที่มีขนาดเล็ก ถ้าหากจะให้ได้คำตอบที่ชัดเจนกว่านี้ จะต้องขยายกลุ่มของผู้ทำการศึกษา และเพิ่มจำนวนของกลุ่มตัวอย่าง เมื่อถึงตอนนั้นก็จะได้คำตอบเกี่ยวกับฟีเจอร์ Night Shift มากขึ้น

พร้อมกันนี้ นักวิจัยบอกว่า รู้สึกแปลกใจเล็กน้อยเมื่อกลุ่มที่ไม่ได้ใช้งานมือถือก่อนนอน ไม่ได้มีค่าเฉลี่ยการนอนที่ดีกว่ากลุ่มที่ใช้มือถือก่อนนอน ทั้งที่สมมติฐานของนักวิจัยเคยเชื่อว่า คนที่ไม่ได้ใช้มือถือก่อนนอน น่าจะมีประสิทธิภาพการนอนที่ดีกว่า จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ไม่ได้พบสิ่งนี้จากการทำวิจัย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ค้นพบเล็กน้อยจากการวิจัย นั่นคือ กลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้มือถือก่อนนอนจะไม่ตื่นขึ้นมากลางดึกมากนัก เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ใช้มือถือก่อนนอน

ทั้งนี้ แชด เจนเซน ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนอนมีหลายประเด็นและมีความสลับซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณกาเฟอีนที่ได้รับในแต่ละวัน การออกกำลังกาย อุณหภูมิของห้องนอน เสียง แสง อ่านเรื่องเครียดๆ ดูคลิปตลกๆ ก็อาจขัดขวางการนอนได้ รวมถึงความสม่ำเสมอของเวลาเข้านอนของแต่ละคนก็มีผลเช่นกัน.

ที่มา: The Verge, Brigham Young University

...