บล็อกเชนคือระบบการจัดการข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับระบบทั่วไปที่ใช้ Server โดยระบบ Server นั้นจะต้องมีตัวกลางในการจัดการข้อมูล เช่นธนาคาร ก็จะมี Server ของทางธนาคารเองคอยเป็นตัวกลางในการจัดการข้อมูลต่างๆ (Centralization) เมื่อคนที่เกี่ยวข้องกับระบบเช่น ลูกค้าของธนาคารคนหนึ่ง ต้องการทำธุรกรรมกับลูกค้าอีกคน ทั้งคู่ก็จะต้องทำผ่านตัวกลางคือ Server ของธนาคารนั้น ในขณะที่ระบบของบล็อกเชนจะไร้ตัวกลางในการจัดการสิ่งเหล่านี้ (Decentralization) โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับระบบจะถือข้อมูลชุดเดียวกันไว้
ซึ่งเรียกว่า “บล็อก” และเมื่อเกิดการทำธุรกรรมระหว่างกัน บล็อกต่างๆ จะคอยช่วยในการยืนยันธุรกรรมและอัพเดตข้อมูลให้ตรงกันทุกบล็อก ซึ่งการที่ทุกคนช่วยกันทำธุรกรรมด้วยกันนี้เอง จะทำให้ธุรกรรมนั้น มีความ “รวดเร็ว” และ “ปลอดภัย” มากกว่าการทำโดยตัวกลางคนเดียว
การทำงานของบล็อกเชนประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่
1. Public-Key Cryptography หรือเทคโนโลยีกุญแจสาธารณะ คือระบบการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล โดยใช้ระบบกุญแจ (Keys) 2 ชนิด ได้แก่ Public Key เปรียบเสมือนแม่กุญแจ ใช้ในการเข้ารหัส และ Private Key เปรียบเสมือนลูกกุญแจ ใช้ในการถอดรหัส
2. P2P Network คือระบบเครือข่ายที่ทำให้คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องสามารถทำการเชื่อมต่อกันโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใดๆ
3. Protocol คือกฎเกณฑ์หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่จะใช้ในระบบ ซึ่งจะถูกกำหนดโดยผู้ที่สร้าง หรือพัฒนาระบบขึ้นมา ซึ่งระบบจะมีแนวทาง หรือวิธีการทำงานเป็นอย่างไร ก็จะขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ดังกล่าว เช่นระบบการโอนเงิน ผู้โอนจะต้องส่งข้อมูลจำนวนเงิน และเลขบัญชีปลายทาง หรือระบบการทำสัญญา จะต้องมีรายละเอียดของสัญญาอะไรบ้าง เป็นต้น
...
ข้อดีที่สำคัญอีกประการของบล็อกเชนคือ “ความโปร่งใส” เพราะทุกคนถือข้อมูลชุดเดียวกัน ทุกคนสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้เหมือนๆ กัน หากมีใครต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงข้อมูล ทุกคนในเครือข่ายก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ และต้องมีการ Vote ด้วยเสียงข้างมาก ว่าถูกต้องหรือไม่จึงจะทำการแก้ไขได้ ดังนั้นหากมีคนต้องการจะ Hack ข้อมูลเพื่อการทุจริต ก็จะต้องทำการ Hack มากกว่าครึ่งของบล็อกที่มีทั้งหมด ซึ่งสำหรับบล็อกเชนบางระบบที่มีเป็นหมื่นๆ บล็อก การ Hack กว่าครึ่งของบล็อกทั้งหมดก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้นเมื่อมีธุรกรรมใดเกิดขึ้นแล้ว ธุรกรรมนั้นก็จะถูกรับรู้อยู่บนบล็อกเชนไปตลอดโดยไม่สามารถจะทำการเปลี่ยนแปลงหรือบิดเบือนได้ เพราะทุกคนได้ทำการบันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว ตรงกันข้ามกับระบบ Server ที่ถ้าหากต้องการแก้ไขหรือลบข้อมูลออก ก็ทำได้โดยการเปลี่ยนแปลงที่ Server เพียงที่เดียว
คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเมื่อไรเราถึงควรใช้บล็อกเชน? บล็อกเชนถือเป็น “ยารักษาทุกโรค” ที่ควรถูกนำมาใช้แทนที่ระบบตัวกลางเดิมทั้งหมดหรือไม่?
เรามาหาคำตอบกันในบทความตอนหน้าครับ
คอลัมน์ “เศรษฐีคีย์บอร์ด”
คอลัมน์ “เศรษฐีคีย์บอร์ด” โดย ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ หรือ ดร.เรือบิน (https://www.thuntee.com) ที่จะมาแชร์ประสบการณ์และเทคนิคการใช้เทคโนโลยีสำหรับคนทำธุรกิจ งานอิสระ หรือคนที่กำลังหาช่องทางเพิ่มเติมจากงานประจำ เพื่อให้เกิดกำไรสูงสุดทั้งเป็น “ตัวเงิน” และ “ความสุข”