พาคุณไปทำความรู้จักกับเกม Pokemon Go ด้วยรายละเอียด 10 ข้อ กับตัวการ์ตูนที่ผสานความเป็นโลกเสมือนจริงเข้ากับเกม จนทำให้ผู้คนคอยยกมือถือส่องหาโปเกมอนตลอดเวลา…
หลายคนกำลังดี๊ด๊ากับการมาของเกมดัง "โปเกมอน โก" (Pokemon Go) กับคาแรกเตอร์ของเหล่าโปเกมอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการ์ตูนที่คุ้นเคยกันมานานทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเกมที่มีกระแสตอบรับแบบถล่มทลาย จนทำให้เราได้เห็นข่าวต่างประเทศอยู่หลายครั้ง กับภาพผู้คนวิ่งกรูไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อตามจับโปเกมอน!
ส่วนใครที่ยังสงสัยว่าผู้คนทั่วโลกเขากำลังฮิตอะไรกัน ทำไมต้องมีคนถือมือถือเดินหา หรือวิ่งแข่งกันไปตามหาเจ้าตัวโปเกมอน คำถามเหล่านี้จะหมดไป เพราะเราอาสาไขข้อข้องใจทั้งหมดให้คุณ กับ 10 ข้อ ที่รับรองว่าอ่านแล้วรู้แจ้งกับหลากเรื่องราวของเกมโปเกมอน โก...!!!

1. เกมโปเกมอน...ไม่ได้เพิ่งมีให้เล่นเป็นครั้งแรก โดยในเวอร์ชั่นแรกๆ นั้น เป็นการพัฒนาออกมาให้ใช้เล่นกับเครื่องเล่นเกมบอยและเกมบอยคัลเลอร์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1996 เริ่มจาก... โปเกมอนภาคเรด, โปเกมอนภาคบลู, โปเกมอนภาคโกลด์, โปเกมอนภาคซิลเวอร์, โปเกมอนภาคไฟร์เรด, โปเกมอนลีฟกรีน เป็นต้น ซึ่งไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังมีอีกสารพัดภาคออกมาเอาใจแฟนเกมโปเกมอน แถมแต่ละภาคยังทำยอดขายได้ชนิดที่ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะหลายภาคที่ออกมาในช่วงแรก ซึ่งมีสถิติจำหน่ายได้หลายสิบล้านหน่วยต่อภาค
ชมตัวอย่างเกมโปเกมอน โก ได้ที่นี่
2. ส่วนเกมโปเกมอน โก ที่ฮิตกันอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อราวๆ กันยายน 2015 และเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้เอง โดยเป็นการทยอยเปิดให้บริการ ซึ่งมี 5 ประเทศในเบื้องต้น คือ สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ก่อนจะขยายไปยังประเทศต่างๆ อาทิ อิตาลี, สเปน, โปรตุเกส, เบลเยียม, บัลแกเรีย, โครเอเชีย, ไซปรัส, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, กรีซ, กรีนแลนด์, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา เป็นต้น ส่วนในประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่เปิดให้บริการนั้น เนื่องจากอยู่ระหว่างจัดเตรียมเซิร์ฟเวอร์ให้มีความจุเพื่อรองรับผู้เล่นจำนวนมหาศาล
...

3. ผู้พัฒนาเกมโปเกม่อนในอดีต คือ เกมฟรีก บริษัทผู้พัฒนาวิดีโอเกมสัญชาติญี่ปุ่น โดยมีบริษัทนินเท็นโดเป็นผู้ผลิต แต่ปัจจุบัน...เกมโปเกม่อน โก อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัทไนแอนติก, โปเกมอนคอมพานี และ นินเท็นโด
4. รูปแบบเกมโปเกม่อนในอดีต เป็นวิดีโอเกมแบบเล่นตามบทบาท แต่ปัจจุบันเกมโปเกม่อน โก กลายเป็นเกมเสมือนจริงสำหรับเล่นผ่านสมาร์ทโฟนในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ซึ่งภายในเกมจะมีกิจกรรมให้ผู้เล่นได้สะสม และแลกเปลี่ยนโปเกม่อน และยังมีอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า "โปเกมอน โก พลัส" สายรัดข้อมือตัวช่วยในการเล่นเกม ซึ่งจะทำหน้าที่เตือนผู้เล่นด้วยการสั่นและไฟกะพริบ เมื่อพบว่ามีโปเกมอนอยู่ใกล้กับผู้เล่น โดยผู้เล่นสามารถกดปุ่มตามลำดับรหัสที่กำหนดให้เพื่อจับโปเกมอน และตรวจสอบที่เกมว่าจับได้ตัวอะไร
5. ผู้เล่นเกมโปเกมอน โก จะมีชื่อเรียกว่า... เทรนเนอร์ ส่วนตัวโปเกมอนนั้นก็มีความแตกต่างกันไป เช่น โปเกมอนธาตุน้ำก็จะสามารถพบได้ใกล้กับแหล่งน้ำ และนั่นก็เป็นที่มาว่าทำไมเราจึงเห็นข่าวผู้คนในต่างประเทศพากันเดินชูมือถือส่องหาโปเกมอน

6. อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกมโปเกมอน โก แตกต่างจากเกมอื่นๆ คือ การนำระบบนำทางอย่าง GPS เข้ามารวมกับเนื้อหา ทำให้ผู้เล่นสามารถเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อตามหาตำแหน่งของเหล่าโปเกมอน ก่อนจะจับมาอยู่ในความครอบครอง ด้วยการยกมือถือขึ้นส่องเพื่อโยนบอลใส่โปเกมอนและจับนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีการใช้สถานที่สำคัญๆ ที่มีอยู่จริง เช่น อนุสาวรีย์หรือพิพิธภัณฑ์ มาใช้เป็นจุดพักหรือยิมต่อสู้ของเหล่าโปเกมอน ซึ่งเรียกว่า "โปเกสต็อป" (PokeStop)
7. ไม่ใช่แค่สะสมให้มีจำนวนมากที่สุด แต่ผู้เล่นสามารถอัพเกรดความแข็งแกร่งให้บรรดาโปเกมอนของตัวเองได้ด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการจับโปเกมอนเพิ่ม และรับมือการต่อสู้กับตัวที่แข็งแกร่งกว่า และหากสามารถตามหาโปเกมอนที่อยู่ในประเภทเดียวกันได้ซ้ำๆ บ่อยๆ ก็จะสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตัวใดตัวหนึ่งได้ หรือจะเปลี่ยนไปแลกเป็นของอื่นๆ ก็ได้ และอย่าคิดว่าแค่จับโปเกมอน รออัพเกรด แล้วจะจบ! เพราะผู้เล่นสามารถเก็บและฟักไข่ของโปเกมอนได้ด้วย ซึ่งวิธีการฟักตัวนั้นต้องใช้การนับก้าวเดิน หรือวิ่งให้ครบตามที่กำหนด เพื่อช่วยให้เพื่อนรักโปเกมอนของคุณได้ฟักเป็นตัว
...

8. ส่วนระบบการต่อสู้ภายในเกมนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ทีม คือ ทีมสีแดง ทีมสีน้ำเงิน และทีมสีเหลือง ซึ่งเมื่อเล่นไปสักระยะก็จะได้เลือกทีมที่ตนเองต้องการเข้าร่วม โดยแต่ละผู้เล่นมีหน้าที่พัฒนาความแข็งแกร่งให้โปเกมอนของตนเอง และรวมกับคนอื่นในทีม ก่อนจะส่งโปเกมอนเข้ายิมเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งฝ่ายอื่น แบบ 1 ยิม ต่อ 1 ทีม ซึ่งผู้เล่นแต่ละรายสามารถส่งโปเกมอนเข้าสู้กับทีมได้ครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น เพื่อช่วงชิงยิมแห่งนั้นเป็นของฝ่ายตนเอง เมื่อชนะแล้วก็ต้องคอยต่อสู้เพื่อปกป้องแดนของตน พร้อมทั้งต่อสู้กับคู่แข่งเพื่อชิงยิมอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้คนพยายามค้นหาโปเกมอน
9. เมื่อมีแฟนๆ ตอบรับโปเกมอน โก อย่างล้นหลาม แน่นอนว่าบริษัทผู้พัฒนาจึงเล็งต่อยอดเกมฮิตนี้ในทางธุรกิจ ภายใต้ความร่วมมือกับร้านค้าต่างๆ ในรูปแบบสปอนเซอร์ โลเคชั่น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจุดจับโปเกมอนในร้านค้าต่างๆ เพื่อดึงดูดสาวกโปเกมอนให้เข้าไปใช้บริการ โดยโมเดลธุรกิจนี้ถือเป็นการสร้างรายได้ให้บริษัทผู้ผลิตเกมดังกล่าว นอกเหนือจากการขายสินค้าเสมือนในเกม ซึ่งคาดว่าจะมีความร่วมมือกับหลากหลายร้านค้า และผู้ให้บริการ อาทิ คาเฟ่ ร้านขายยา หรือแม้แต่บริการรถเช่า
...

10. สำหรับคนไทยที่อยากเล่นโปเกมอน โก คงต้องรอกันไปก่อน เพราะขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการเปิดให้บริการในประเทศไทยแต่อย่างใด
จัดมาให้ 10 ข้อแบบนี้แล้ว ถึงจะยังไม่ได้เล่นไล่จับโปเกมอน ก็รับรองว่าคุยภาษา (คนชอบ)โปเกมอนรู้เรื่องแน่นอน...!!!


...

