ช่วงนี้หันไปทางไหน หรือสไลด์หน้า Timeline Social Network ก็มีแต่คนพูดถึง “Pokemon Go” แน่นอน โปเกมอน คือเกมในตำนานและการ์ตูนขวัญใจใครหลายๆ คน แต่สิ่งที่ทำให้การกลับมาครั้งนี้เป็นที่ฮือฮา ไม่ใช่แค่นั้น เพราะเราเห็นตัวอย่างของเกม/การ์ตูนหลายเรื่อง ที่เคยโด่งดังมากๆ พอกลับมาทำใหม่ กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้ “Pokemon Go” กลายเป็นกระแสจนยอดดาวน์โหลดถล่มทลาย ขนาดแค่เพิ่งเปิดให้เล่นเพียง 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ประเทศที่ยังเล่นไม่ได้ ก็กระหายหาวิธีที่จะซอกแซก อยากโหลดมาเล่นให้ได้ (ไม่ต้องไปไหนไกล คนไทยก็เป็นหนึ่งตัวอย่าง) และปรากฏการณ์นี้ทำให้หุ้น Nintendo พุ่งสูงขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 33 ปี จากการเปิดตัวไปไม่กี่วันเท่านั้น 
 

ต้องชื่นชมว่า “Pokemon Go” เป็นเกมในอุดมคติแห่งยุคนี้จริงๆ เพราะตัวเกมได้ทะลุกรอบประสบการณ์การเล่นเกมบนสมาร์ทโฟนแบบเดิมๆ โดยหยิบเอาเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) มาใช้ ทำให้โลกจินตนาการของเกม ผสมผสานไปกับโลกที่เราอาศัยอยู่จริงได้อย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน และวิธีนี้ก็เป็นการยกระดับความอินของผู้เล่นให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเกมได้อย่างแท้จริง

...

วิธีการคือ ผู้เล่นจะสวมบทบาทเป็นนักล่าโปเกมอน ที่จะต้องเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วมุมโลก เพื่อตามล่าหาตัวโปเกมอน และนี่คือการเดินทางจริงๆ ด้วยขาสองข้างของเราค่ะ โดยตัวเกมจะผูกกับ GPS Google Map และตัวโปเกมอนจะซ่อนอยู่บนแผนที่ หน้าที่ของเราคือ หาให้เจอว่ามีซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง โดยใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือในการส่อง พอเข้าใกล้แหล่งที่มีโปเกมอน เกมก็จะแจ้งเตือนเรา “บี๊บๆๆ โปเกมอนอยู่แถวนี้แล้วนะ!” แล้วก็ล่ากันต่อได้เลย ซึ่งความเก๋อยู่ตรงที่ โปเกมอนแต่ละตัวจะมีธาตุประจำตัว และแหล่งที่อยู่ของแต่ละตัวก็จะแปรไปตามธาตุ เช่น โปเกมอนธาตุน้ำ ก็จะซ่อนอยู่แถวๆ ลำธาร/แม่น้ำ เป็นต้น

เกมนี้แม้จะไม่ใช่แฟนโปเกมอน แต่โดนใจทุกเพศ ทุกวัย (เฟื่องเองไม่ใช่แฟน แต่ก็กรี๊ดหนักมากและจะเล่นแน่นอน) เพราะวิธีการเล่นที่แปลกใหม่และเข้าใจง่าย ความน่ารักของตัวละครทำให้ผู้หญิงก็เล่นได้ และผู้ชายก็เล่นดี เพราะมีการต่อสู้และความท้าทายในการจับโปเกมอนให้ตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา และเฟื่องเชื่อว่าจะเกิดธุรกิจแนวใหม่หรือการรวมกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการตามจับโปเกมอนแน่นอน อย่างที่อเมริกานำร่องไปแล้วกับอาชีพ “Pokemon Go Driver” พานั่งรถจับโปเกมอน มี wifi ให้พร้อม คิดราคาเป็นชั่วโมง และไม่ใช่ถูกๆ ถ้าให้เฟื่องเชียร์ อยากให้มีทริปท่องเที่ยว ธีมตามล่าโปเกมอนจะได้ทั้งเที่ยว ทั้งมีภารกิจ สนุก และเปิดโลกกว้างไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเข้าไทยอย่างเป็นทางการ เป็นห่วงอยู่ 2 - 3 เรื่องค่ะ

หนึ่งคือ ความปลอดภัย เพราะบางคนอาจจะอินกับการตามล่าโปเกมอนมากจนลืมมองสิ่งที่อยู่จริงๆ ตรงหน้า และบางทีโปเกมอนก็ไปโผล่อยู่กลางถนนก็มี ดังนั้นใช้สติเวลาเล่นนะคะ และที่สำคัญไม่เล่นเวลาขับรถเด็ดขาด กรมการขนส่งฯ ของอเมริกาถึงกับออกมาห้ามเลย คิดดูว่าคนติดกันขนาดไหน และจะบอกว่าส่องไปเวลารถเคลื่อนก็ไม่มีประโยชน์นะคะ เพราะ GPS ในเกมออกแบบมาสำหรับการเดินเท่านั้น เป็นคนละอย่างกับเวลาขับรถค่ะ

เรื่องที่สอง คือ เล่นสนุกได้แต่ดูกาลเทศะด้วย บางครั้งโปเกมอนอาจจะซ่อนอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล หรือสถานที่ราชการ เช่น ในอเมริกาสถานีตำรวจและโรงพยาบาลได้ออกมาขอร้องและเตือนนักล่าโปเกมอนให้เกรงใจสถานที่ด้วย อย่าทะเล่อทะล่าเข้ามาจับ เขาจะทำงาน! (จริงๆตรงนี้ต้องดูกันต่อไปนะคะ ว่านินเทนโดจะแก้ไขให้โปเกมอนอยู่แค่ในที่ที่เหมาะสมรึเปล่า)

และสุดท้าย เรื่องเงินค่ะ เนื่องจากตอนนี้เกมเป็นกระแสมาก อาจมีการซื้อขายตัวโปเกมอนหรือไอเท็มอื่นๆ เพื่อให้ได้อรรถรสการเล่นยิ่งขึ้น หลายคนอาจอาศัยช่วงนี้โก่งราคา ที่เห็นชัดๆ แล้วตอนนี้ ก็คือ อุปกรณ์เสริม Pokemon GO Plus ที่เป็นสายรัดข้อมืออัจฉริยะ ใช้เชื่อมต่อกับ สมาร์ทโฟนเพื่อแจ้งเตือนเมื่อเราเดินเข้าใกล้ตัวโปเกมอน ที่ช่วยให้เราล่าโปเกมอนได้โดยไม่ต้องเปิดโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กกันบ่อยๆ ก็ราคาพุ่งกระฉูดไปเกือบ 3 เท่า ถ้ามีรายได้เป็นของตัวเอง ยินดีจ่ายได้ไม่เดือดร้อนก็แล้วไป แต่ถ้าติดลม แล้วเผลอใช้จ่ายเกินตัว โดยเฉพาะน้องๆ ที่อาจจะต้องไปรบกวนผู้ปกครอง แบบนี้ไม่สนับสนุนนะคะ

...

เอาเป็นว่าเกมสร้างสรรค์แบบนี้เฟื่องสนับสนุน เล่นสนุกได้ แต่อย่าลืมประเมินสถานการณ์โดยรอบ ทั้งกาลเทศะและรายได้ของตัวเองด้วยนะคะ 

“รักจะเป็นเกมเมอร์ เราต้องเป็นคนคุมเกม อย่าให้เกมคุมเรา”

เจอกันบทความหน้า (ตอนนั้นคงได้เล่นโปเกมอนโกกันแล้ว เพราะแว่วๆ มาว่าจะเข้าไทยในสัปดาห์นี้) ขอให้มีความสุขในวันหยุดยาวค่ะ

เหมือนเดิม ติดตามกันได้ตามโซเชียลค่ะ