ช่วงนี้คำว่า “Any ID” เริ่มมีคนพูดถึงมากขึ้น สงสัยว่ามันคืออะไร ดีกับใคร จะเวิร์กไหม? วันนี้เฟื่องเลยขอรวบรวมข้อมูลคร่าวๆ และมองในมุมกว้างๆ ทั้งมุมบวกและข้อสังเกตมาให้ลองอ่านกันค่ะ

Any ID คืออะไร


Any ID คือ ระบบการรับจ่ายโอนเงินแบบใหม่ ไม่ต้องใช้เลขบัญชีธนาคารอีกต่อไป ใช้เป็นเลขหรือชุดข้อมูลระบุตัวตนรายบุคคล (Identification) แทน เบื้องต้นคือ 1. เลขบัตรประชาชน และ 2. เบอร์มือถือ เป็นส่วนหนึ่งของวาระแห่งชาติของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันประเทศให้เปลี่ยนไปใช้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด (National e-Payment) เป็นการผลักดันประเทศให้เป็น Cashless Society หรือสังคมที่ไม่ใช้เงินสด จะเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการกันยายน 2559 โดยบุคคลหนึ่งสามารถมี Any ID ได้สูงสุด 4 บัญชี (1 บัญชี ผูกกับเลขบัตรประชาชน และอีก 3 บัญชี ผูกกับเบอร์มือถือได้สูงสุด 3 เบอร์)

ประโยชน์

1. ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ : เนื่องจากทุกอย่างเป็นอิเล็กทรอนิกส์หมด ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเงินสดจะถูกตัดออกไปเช่น ค่าเช่าตู้ ATM ค่าขนส่งธนบัตร ฯลฯ เอาเงินตรงนี้ไปทำอย่างอื่นได้อีก

2. สะดวกขึ้นในการทำธุรกรรม : ไม่ต้องนั่งจำเลขบัญชี/ ถ่ายเอกสารหน้าสมุดบัญชีให้ยุ่งยาก หรือกรณีรับเงินจากรัฐบาล เช่น เงินคืนภาษี/ เงินประกันสังคม ฯลฯ ก็จะสะดวกรวดเร็วขึ้น โอนผ่าน Any ID ได้เลย ไม่ต้องรอรับเช็ค ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเงินจะหายระหว่างทาง หรือถูกคนกลางชักเงินบางส่วนไป เป็นต้น

...

ข้อสังเกต

1. รัฐบาลจะเห็นทุกธุรกรรมของเรา : เรื่องนี้มองได้สองแง่ แง่ผลประโยชน์โดยรวม คือรัฐจะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันยังมีรายได้ที่เล็ดลอดสายตาสรรพากรอยู่มาก คนที่ซ่อนรายได้ และไม่เคยจำเป็นต้องเสียภาษีมาก่อนอาจจะไม่ชอบเท่าไร แต่ถ้าข้อมูลเหล่านี้ ช่วยให้มีจำนวนคนเสียภาษีมากขึ้น และรายจ่ายต่อหัวลดลงได้ ในระดับที่ไม่เดือดร้อน ก็น่าสนใจ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายต่อเนื่องของรัฐบาลแหละค่ะ ว่าได้ข้อมูลเหล่านี้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป

2. อาจเกิดศึกแย่งชิงลูกค้าระหว่างธนาคารพาณิชย์ : เพราะ Any ID ก็เป็นการรื้อระบบเดิมอย่างหนึ่ง ผูกกับบัญชีธนาคารไหนแล้ว ก็คือธนาคารนั้นเลย ย้ายค่ายอาจทำได้ แต่ไม่แน่ใจว่าพอระบบมันง่ายขนาดนี้แล้ว จะมีจุดขายอะไรที่ธนาคารเอามาใช้เป็นแรงจูงใจอะไรที่มากพอให้ย้าย ในช่วงเริ่มต้นธนาคารไหนมีลูกค้าในมือมาก ก็ยิ่งได้เปรียบ (ตอนนี้ก็มี SCB ที่ให้ลงทะเบียนล่วงหน้านำร่องไปแล้ว)

อย่างไรก็ตาม กระแสที่ออกมา ณ ตอนนี้ก็มีทั้งเห็นด้วย และคัดค้าน เพราะก่อนหน้านี้ประชาชนไม่ค่อยเชื่อในศักยภาพของภาครัฐที่มาจัดการด้านดิจิทัลซักเท่าไร (เช่น กรณี Single Gateway, Go Bike ฯลฯ) เพราะเชื่อว่าภาคเอกชนมีความรู้เรื่องนี้ที่ดีกว่า และอาจจะรู้สึกว่ารัฐพยายามกุมอำนาจ ผูกขาดมากจนเกินไป

แต่จากการติดตามข่าวเรื่อยๆ เฟื่องอยากให้ลองเปิดใจดูค่ะ เพราะจริงๆ แล้วรัฐบาลก็ดูพยายามเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น รับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น อาจยังไม่เข้ารูปเข้ารอย และถูกใจทุกคนทั้งหมด แต่ถ้าประเทศจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลโดยไม่เสียดุลไปให้ต่างชาติจริงๆ ก็ต้องการการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทั้งระบบ โดยมีรัฐเป็นแกนกลางเนี่ยแหละค่ะ ถ้าเราเอาแต่คัดค้านแบบมีอคติ ประเทศอาจจะไม่เดินหน้า อยากให้ลองให้โอกาสดู พิจารณาอย่างมีสติ และเป็นเหตุเป็นผล เพราะลึกๆ แล้วเชื่อว่าคนไทยทุกคนรักประเทศไทยและอยากเห็นเราก้าวหน้าไปด้วยกันค่ะ

ติดตามเฟื่องกันได้ทางโซเชียลค่ะ อัพเดตนิด ตอนนี้ชื่อเดียวกันหมดทุก platform แล้ว!

เย้! เจอกันพฤหัสหน้าค่ะ