สวัสดีค่ะชาวไทยรัฐออนไลน์ทุกๆ ท่าน เฟื่องลดา สรานี สงวนเรือง ค่ะ เป็นผู้ประกาศข่าวรายการ “เช้าข่าวชัดโซเชียล” ช่วง 06.00 - 09.00 น. จ.- ศ. ไทยรัฐทีวี และเป็นพิธีกรหญิงด้านไอทีของพี่หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เจ้าพ่อไอที ถ้าใครติดตามเรื่องไอทีน่าจะพอเคยเห็นหน้าเฟื่องโฉบไปโฉบมาบ้างตามที่ต่างๆ

นับต่อจากนี้ไป เฟื่องจะมารับบทบาทใหม่อีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ “นักเขียน” ในคอลัมน์คนดังนั่งเขียนค่ะ จะมาเล่าเรื่องไอทีสนุกๆ ให้ฟังกันเป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ เรื่องแรกขอเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว ที่เฟื่องคลุกคลีมากที่สุดก่อน ก็คือ “กล้อง” นั่นเองค่ะ

เชื่อว่า 90% ของคนสมัยนี้มีสมาร์ทโฟนที่ถ่ายรูปได้ และเคยสงสัยว่าเราจะซื้อกล้องกันไปทำไมอีก ตลาดกล้องดิจิทัลเคยเกือบไปไม่รอด เพราะคนหันไปซื้อมือถือที่กล้องดีๆ รู้สึกคุ้มกว่า พกพาง่ายใช้งานสะดวกกว่า


แต่หลังจากอินสตาแกรมเริ่มฮิต คนก็แข่งกันแชร์ภาพสวยๆ เพื่อกระตุ้นยอดไลค์ และยอดคนกดติดตาม สร้างความฟินในการเล่นโซเชียล และบริษัทกล้องก็ปรับตัว ออกกล้องรุ่นใหม่ๆ ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน ตัวเล็กลง เบาลง พกพาง่าย บอดี้ดูดี พลิกจอมาเซลฟี่ได้ และส่งรูปเข้ามือถือได้ทันทีด้วย wifi และแน่นอน นี่คือสาเหตุที่ทำให้กล้องกลับมาฮิตอีกครั้งนึง!

หลายคนที่ไม่เคยเล่นกล้องอาจจะงง ว่าเอ๊... แล้วมือถือที่แข่งกันกล้องชัดนี่ยังไม่พออีกหรือ หลายคนเข้าใจผิดว่าคุณภาพภาพถ่ายขึ้นอยู่กับจำนวนพิกเซลอย่างเดียว ยิ่งพิกเซลเยอะยิ่งดี แต่จริงๆ แล้วจำนวนพิกเซลเป็นแค่ส่วนนึงเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่สำคัญกว่า เช่น

เซนเซอร์ : ขนาดเซนเซอร์ยิ่งใหญ่ยิ่งดี เพราะเก็บแสงได้มากกว่า เก็บรายละเอียดภาพได้มากกว่า มิติภาพดีกว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อคุณภาพของภาพ ลดการเกิดเม็ดสีแตกๆ (noise) ในภาพ จะเห็นได้เลยว่ามือถือไม่เคยเอาเรื่องขนาดเซนเซอร์มาเป็นจุดขาย เพราะเซนเซอร์กล้องมือถือนั้นเล็กมากๆ

เลนส์ : เลนส์ของกล้องนั้นยืดหยุ่นกว่ากล้องมือถือ อย่างน้อยๆ กล้องทั่วไปก็สามารถซูมภาพได้ด้วยการยืดเลนส์ออกไป แต่กล้องมือถือไม่สามารถซูมด้วยเลนส์ได้ อาศัยการซูมจากซอฟต์แวร์อย่างเดียว

การทำหน้าชัดหลังเบลอ : กล้องสามารถทำหน้าชัดหลังเบลอด้วยตัวเลนส์เองตั้งแต่ก่อนกดชัตเตอร์ ทำให้ตัววัตถุชัด หลังละลาย ซึ่งแม้มือถือจะมีฟีเจอร์เบลอให้เลือกเล่น แต่นั่นก็เป็นการเบลอด้วยซอฟต์แวร์ ซึ่งภาพที่เบลอด้วยกล้องเองนั้นสวยกว่าการเบลอทีหลังในมือถือหลายเท่านัก

...


ดังนั้นด้วยข้อจำกัดของมือถือที่ต้องแข่งกันบาง แข่งกันเบา ทำให้ไม่สามารถยัดเซนเซอร์กล้องที่ใหญ่ หรือเลนส์ที่คุณภาพดีได้เท่ากล้องจริงๆ อยู่แล้ว ไม่ว่ามือถือจะอ้างว่า ภาพคมชัดสูงถึง 40-50 ล้านพิกเซล ก็ยังได้ภาพที่ไม่สวยเท่ากล้องที่ความคมชัดสูงสุดแค่ 16 ล้านพิกเซล แต่มีเซนเซอร์ใหญ่กว่าได้อยู่ดี แม้จะเอาไปใช้งานแค่เล็กๆ อัปลงโซเชียลก็เถอะ ดูรู้เลยว่ารูปไหนถ่ายจากมือถือ รูปไหนถ่ายจากกล้อง ยิ่งเอามาเปิดดูในจอคอมหรือทีวียิ่งแล้วใหญ่ คุณภาพคนละระดับเลยล่ะค่ะ



ตอนหน้า เฟื่องจะพาไปทำความรู้จักกับกล้องในระดับ user หรือผู้ใช้งานทั่วไปกันนะคะ ว่ามีกล้องประเภทไหนที่น่าสนใจบ้าง และเราน่าจะเหมาะกับกล้องประเภทไหน ใครเตรียมสอยกล้องซักตัวเป็นของตัวเอง รอได้เลย แล้วเจอกันบทความหน้าค่ะ


ป.ล. ใครอยากให้เขียนเรื่องอะไรฝากข้อความมาได้ตามช่องทางโซเชียลของเฟื่อง หรือเมลหากันที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยนะคะ ขอบพระคุณไทยรัฐออนไลน์ด้วยที่ให้โอกาสเฟื่องทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ (จบอักษรฯ จุฬาฯมา อีกหนึ่งความฝันคือการเป็นนักเขียน) ฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ


IG: @faunglada 
Facebook: Faunglada