ไขข้อข้องใจ กับเรื่องราวของศูนย์การค้ายุคบุกเบิกตลาดไอทีในไทย อย่าง "พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า" (Pantip Plaza) กับกระแสข่าวที่บอกว่ากำลังจะปิดตัว...
หากเป็นเมื่อก่อน...แหล่งซื้อ-ขายสินค้าไอที และบริการเกี่ยวกับอุปกรณ์ไอที คงมีอยู่ไม่กี่สถานที่ที่คนส่วนใหญ่นึกถึง เนื่องจากห้างไอทีมอลล์นั้นยังมีอยู่น้อยแห่ง และหนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อของ พันธุ์ทิพย์ อยู่ในใจใครหลายคน...แต่มาถึงวันนี้ แหล่งจำหน่ายและให้บริการสินค้าไอทีขยายตัวมากขึ้น มีอยู่ทั่วไปแม้แต่ในแฟชั่นมอลล์ จนอาจทำให้ชื่อของห้างไอทีรุ่นแรกๆ ของเมืองไทยอย่าง "พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า" โดยเฉพาะสาขาประตูน้ำ เริ่มเลือนรางไปจากใจคนไอที
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้มีกระแสข่าวว่าศูนย์การค้าไอทีแห่งดังกล่าวกำลังจะปิดตัวลง "ไทยรัฐออนไลน์" จึงขอรับอาสา พาคุณไปทำความรู้จักกับห้างไอทีแห่งนี้สักหน่อย...
1. ภายใต้ชื่อเรียกพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ที่เราคุ้นเคย แท้จริงแล้วอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด
2. พันธุ์ทิพย์ สาขาประตูน้ำ เปิดให้บริการในรูปแบบศูนย์การค้าไอทีครบวงจร ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2527 เรียกว่าเก่าแก่และยาวนานกว่า 30 ปีมาแล้ว
3. จากภาพลักษณ์ที่มุ่งเน้นการขายและให้บริการด้านไอที แต่ในช่วงหลายปีมานี้...ทางศูนย์การค้าดังกล่าวก็พยายามนำเสนอสินค้าที่อยู่ในกระแสความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เซตท็อปบ็อกซ์ สมาร์ทบ็อกซ์ รวมไปถึงอุปกรณ์เสริมไอทีอื่นๆ
4. ปัจจุบันห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า มี 3 สาขา คือ สาขาประตูน้ำ สาขาบางกะปิ และสาขางามวงศ์วาน
...
5. ในอดีตหลายคนมองพันธุ์ทิพย์เป็นแหล่งซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ เพลง และภาพยนตร์ต่างๆ แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ตำรวจ กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เพื่อล้างภาพลักษณ์ดังกล่าว สู่การเป็นห้างไอทีที่มีสินค้าคุณภาพ ปลอดการละเมิดลิขสิทธิ์ทุกประเภท
6. ช่วง 2-3 ปี ก่อนปรับปรุงพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ เคยมีจำนวนผู้ใช้บริการสาขาดังกล่าวสูงสุดถึง 30,000 คนต่อวัน
7. พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เป็นธุรกิจในเครือเดียวกับหลายศูนย์การค้า อาทิ ดิจิตอล เกตเวย์ สยาม, เกตเวย์ เอกมัย, เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เจริญกรุง เป็นต้น
8. อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการจัดตั้งบริษัท ทีซีซีแลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด และบริษัทลูกในชื่อ ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ เอสเตท ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ของกลุ่มทีซีซีแลนด์ ซึ่งจะรวมการบริหารธุรกิจ 6 กลุ่มเข้าด้วยกัน อาทิ เอเชียทีค, พันธุ์ทิพย์ ฯลฯ
9. ตามที่หลายคนเข้าใจว่าพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า จะปิดให้บริการนั้น...ที่จริงแล้วเป็นการปรับโฉมครั้งใหญ่ ซึ่งทีมผู้บริหารเคยประกาศว่าจะใช้งบประมาณกว่าหลายร้อยล้านบาทในการปรับปรุงครั้งนี้ เพื่อให้พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า กลายเป็นศูนย์การค้าไอทีที่ทันสมัย และรองรับไลฟ์สไตล์ไอทีของคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมล้ำสมัย
10. คาดว่าโฉมใหม่ของพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ทั้ง 3 สาขา จะแล้วเสร็จภายในปี 2559
อ้อ...แถมข้อสุดท้ายสมัยก่อนห้างนี้โด่งดังขนาด 'เสก โลโซ' นักร้องชื่อดังที่เพิ่งเลิกกับภรรยาเอาชื่อห้างมาใส่ในเนื้อเพลงด้วย ใช่ จะไม่ไปพันธุ์ทิพย์...!