Pico 4 เป็นหนึ่งในตัวเลือกของใครที่กำลังให้ความสนใจเฮดเซตความจริงเสมือน หรือ Virtual reality โดยมีจุดเด่นในด้านการใช้งานที่เป็นสแตนด์อโลน การออกแบบที่ดี และราคาที่น่าสนใจ
แม้ว่ากระแสของ Virtual reality อาจยังไม่ร้อนแรง และยังไม่อยู่ในสถานะของเทคโนโลยีกระแสหลัก เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของความจริงเสริมมีคู่แข่งอยู่หลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นพี่ใหญ่อย่าง เมตา (Meta) ซึ่งมี Meta Quest 2, HTC Vive, Valve Index, PalyStation VR2 และผู้มาใหม่อย่าง Apple Vision Pro
นอกเหนือจากแบรนด์ที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว ในตลาด VR ยังมีอีกหนึ่งแบรนด์ที่ทำราคาได้น่าสนใจ มีฟีเจอร์และการออกแบบที่ดีพอใช้ ในระดับราคาที่เอื้อมถึง นั่นคือ Pico 4 แบรนด์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของไบต์แดนซ์ (ByateDance) บริษัทแม่ของติ๊กต่อก (TikTok) นั่นเอง
สเปกเครื่อง Pico 4
...
- เลนส์แพนเค้ก ให้ภาพมุมกว้าง 105° และ 20.6 PPD (พิกเซลต่อองศาการมองเห็น)
- ชิปเซต Qualcomm Snapdragon XR2
- ระบบปฏิบัติการ Pico OS 5.0
- หน่วยความจำและความจุ มีให้เลือก 2 โมเดล ได้แก่ 8 GB RAM + 128 GB ROM และ 8 GB RAM + 256 GB ROM
- แบตเตอรี่ 5,300 mAh และรองรับการชาร์จเร็ว 20W
- ลำโพงสเตอริโอ 360 องศา รองรับระบบเสียงสามมิติ
- ไมโครโฟนคู่ ตัดเสียงรบกวนได้สูงสุด 30dB และตัดเสียงสะท้อน 50dB
- ระบบจับตำแหน่งแบบ 6DoF ครอบคลุมการเคลื่อนไหว 6 ทิศทาง
การออกแบบ Pico 4
เมื่อได้ลองสัมผัสต้องบอกว่า Pico 4 ออกแบบและใช้วัสดุประกอบงานที่น่าพึงพอใจ ใช้สีที่มีลักษณะโทนสีเทาและสีขาว ด้านหน้าเป็นส่วนหน้าจอที่คล้ายกับแว่นสกีที่อยู่ในโลกของยุคไซไฟ
เมื่อสังเกตให้ดีจะพบว่ามีกล้อง Fisheye 4 ตัว และกล้อง RGB 16 ล้านพิกเซล 1 ตัว ด้านข้างเป็นพอร์ตสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ และปุ่มเปิด/ปิด การใช้งานตัวเครื่อง
ในด้านการสวมใส่ พบว่า Pico 4 มีการกระจายน้ำหนักของตัวเครื่องได้ดี ไม่ได้หนักเฉพาะในส่วนที่เป็นพื้นที่ของแบตเตอรี่ ขณะที่สวมใส่แล้วลองใช้งานอยู่นั้นก็ไม่ได้พบปัญหาหนักที่ศีรษะ อีกทั้งตัวเครื่องมีการออกแบบให้ปรับแถบคาดศีรษะให้กระชับได้ดีทีเดียว
Pico 4 มีน้ำหนักเฉพาะในส่วนเฮดเซตด้านหน้าที่ 295 กรัม แต่ถ้ารวมสายรัดศีรษะด้วยน้ำหนักจะเพิ่มรวมกันเป็น 586 กรัม
...
ทั้งนี้ แพ็กเกจที่มาพร้อมกับตัวเครื่องจะมีแผ่นยางสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องสวมแว่น เพื่อไม่ให้เลนส์ของแว่นตาปะทะกับเลนส์ของตัวเครื่อง Pico 4 และแป้นจมูกอีก 1 อัน
คอนโทรลเลอร์ของ Pico 4
คอนโทรลเลอร์ของ Pico 4 มีด้วยกัน 2 ชิ้น ได้แก่ คอนโทรลเลอร์สำหรับควบคุมด้วยมือซ้าย และมือขวา
...
...
ข้อเสียของคอนโทรลเลอร์ของแบรนด์ Pico 4 น่าจะเป็นเรื่องของแบตเตอรี่ เนื่องจากคอนโทรลเลอร์ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อการชาร์จด้วย USB แต่เป็นการใช้ถ่านแบบ AA
ข้อมูลจากสเปกชีตระบุว่า แบตเตอรี่ AA สองก้อน สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ประมาณ 80 ชั่วโมง ดังนั้นแล้วผู้ใช้งานก็จะต้องเสียเงินเพิ่มเติมสำหรับการซื้อแบตเตอรี่มาใส่ในคอนโทรลเลอร์ นอกเหนือจากคอนเทนต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Pico
Pico OS 5.0
หลังจากที่เราเปิดเครื่อง สวมใส่ Pico 4 เพื่อเข้าสู่โลกเสมือนแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือการล็อกอินไวไฟ ตามด้วยการสร้างบัญชีของ Pico จากนั้นจะได้พบกับอินเตอร์เฟซที่อยู่ภายในตัวเครื่อง โดยเริ่มจากการจำลองภาพของการอยู่ในห้องนั่งเล่น
สิ่งที่น่าประทับใจก็คือการแสดงผลของภาพมีความคมชัด ละเอียด ไม่เบลอ โดยมีความละเอียดของจอที่ 4320 x 2160 หรือ 2160 x 2160 ต่อดวงตาหนึ่งข้าง และมีอัตรารีเฟรชสูงสุด 90Hz
Pico OS 5.0 มีรากฐานจากระบบปฏิบัติการ Android ดังนั้นจึงมีแอปพลิเคชันบางส่วน pre-load มาบ้างแล้ว เช่น เว็บแอปพลิเคชันที่เป็นพวกวิดีโอ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถดูคอนเทนต์วิดีโอจากยูทูบ (YouTube) หรือทวิตช์ (Twitch) จาก Pico 4 ได้เลย
ขณะที่แอปพลิเคชันที่สร้างมาสำหรับ Pico OS หากว่ากันตามตรงแล้ว ส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์ที่ต้องเสียเงินเกือบทั้งหมด เช่น ถ้าหากคุณต้องการออกกำลังกายในรูปแบบ VR ผ่านแอปพลิเคชัน Les Mills Body Combat ก็เล่นได้แค่โหมด Tutorial แต่ถ้าหากต้องการเล่นมากกว่านั้นต้องผูกบัตรเครดิตแล้วเข้าสู่กระบวนการซื้อแอปพลิเคชันต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ซื้อ Pico 4 มาใช้งานสามารถเล่นเกม Wands Alliances, All-in-One Sports VR, SUPERHOT VR ฟรี เป็นจำนวน 3 เกม
แบตเตอรี่
หลังทดลองใช้งานมาสักระยะหนึ่งพบว่า ต่อการชาร์จแบตเตอรี่เต็มประจุ 1 ครั้ง ใช้งานได้ราว 4 ชั่วโมง ซึ่งระยะเวลานี้ถือว่าเพียงพอต่อการดูคอนเทนต์วิดีโอ หรือภาพยนตร์สักหนึ่งเรื่อง
ในด้านหนึ่งควรต้องกล่าวว่า แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นาน 4 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าค่อนข้างใช้งานได้สั้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง การอยู่ในโลก VR นานระดับ 4 ชั่วโมง ก็น่าทำให้สายตาล้ามากพอสมควร
ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่เต็มประจุในครั้งหนึ่งๆ ใช้เวลาราว 2-3 ชั่วโมงโดยประมาณ
สรุป
Pico 4 น่าสนใจจากการตั้งระดับราคาที่ไม่แพงนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่นในท้องตลาด ในราคาเริ่มต้น 13,990 บาท สำหรับรุ่น 128GB และ 15,990 บาท ในรุ่น 256GB สเปกเครื่องถือว่าแรงรอบจัดเลยทีเดียว
เมื่อสวมใส่ใช้งานจริงก็พบว่ามีการกระจายน้ำหนักของตัวเครื่องได้ดี ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าหนักเป็นพิเศษในส่วนที่จัดวางแบตเตอรี่
หลังจากที่ลองใช้งานพบว่า ไม่ได้เจออาการ Motion Sickness มากนัก แต่ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานแต่ละคน
ข้อเสียเปรียบของ Pico 4 อาจเป็นเรื่องของคอนเทนต์ ถ้าหากนำไปเทียบกับ Meta Quest ซึ่งมีคอนเทนต์ระดับแม่เหล็กมากกว่า Pico 4
ขณะที่เรื่องของแบตเตอรี่ก็เป็นข้อเสียเช่นกัน เพราะระยะเวลาการชาร์จแบตเตอรี่ก็กินเวลาเกือบ 2-3 ชั่วโมงแล้ว แต่ใช้งานได้ราวๆ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงอายุของแบตเตอรี่ควรมีระยะเวลาที่นานกว่านี้ รวมถึงคอนโทรลเลอร์ที่ไม่สามารถชาร์จไฟได้ แต่ต้องใช้ถ่าน AA ซึ่งใช้งานได้ราว 80 ชั่วโมง.