แอปพลิเคชัน iMessage กลายเป็นประเด็นในสหรัฐอเมริกา เมื่อถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งของวัยรุ่น จนเกิดการแบ่งแยกระหว่างผู้ใช้งาน iPhone และผู้ใช้งาน Android

สัปดาห์ที่ผ่านมา วอลล์สตรีทเจอร์นัล เปิดประเด็นเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในวัยรุ่นในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีจุดตั้งต้นจากแอปพลิเคชัน iMessage บน iPhone ทั้งนี้แอปพลิเคชันดังกล่าวจะใช้สื่อสารร่วมกันสำหรับผู้ใช้งาน iPhone เท่านั้น

ในเวลาเดียวกัน ถ้าเป็นการส่งข้อความจากผู้ใช้งานระหว่าง Android และ iOS ข้อความที่ถูกส่งไปจะเป็นลูกโป่งสีเขียว แต่ถ้าเป็นการส่งจาก iPhone หรืออุปกรณ์ของแอปเปิลด้วยกัน ลูกโป่งข้อความจะเป็นสีน้ำเงิน นั่นจึงทำให้วัยรุ่นที่ใช้งาน Android จึงไม่สามารถใช้งาน iMessage ได้ จนนำมาสู่การกีดกัน ล้อเลียน และเกิดการกลั่นแกล้งในที่สุด

ประเด็นข้างต้นทำให้ ฮิโรชิ ล็อกไฮเมอร์ รองประธานของกูเกิล ซึ่งดูแลส่วนงานของระบบปฏิบัติการ Android โดยตรง ออกมาทวีตถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

ล็อกไฮเมอร์ กล่าวว่า อย่างแรกสิ่งที่ต้องการพูดถึงไม่ได้เป็นเรื่องความต้องการของกูเกิล ที่จะให้แอปเปิลนำแอปพลิเคชัน iMessage มาให้บริการบนเพลย์สโตร์บนระบบปฏิบัติการ Android แต่สิ่งที่ล็อกไฮเมอร์อยากเห็นก็คือ อยากให้แอปเปิลสนับสนุนมาตรฐานการส่งข้อความสมัยใหม่ หรือ RCS (Rich Communication Services)

รองประธานของกูเกิล เน้นย้ำว่า การที่แอปเปิลร่วมสนับสนุน RCS จะเป็นการช่วยทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ทั้งในแง่ของประสบการณ์การใช้งาน ไปจนถึงเรื่องความเป็นส่วนตัว

ล็อกไฮเมอร์ ทวีตทิ้งท้ายว่า ทางฝั่งกูเกิลยินดีที่จะร่วมงานกับแอปเปิลในประเด็นนี้ เพื่อช่วยผลักดัน RCS

...



อย่างที่ทุกคนทราบกันดี ระบบการส่งข้อความด้วย SMS ถือเป็นการส่งข้อความที่ล้าสมัยไปแล้วในยุคปัจจุบัน เพราะถูกแทนที่ด้วยบริการการส่งข้อความจากแอปพลิเคชันต่างๆ โดยในส่วนของแอปเปิล พวกเขาได้พัฒนา iMessage ขึ้นมา เพื่อเป็นการสื่อสารเฉพาะสำหรับผู้ใช้งานในระบบปฏิบัติการ iOS เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ประเด็นของ iMessage เป็นประเด็นที่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก ถ้าหากไม่ใช่คนที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการติดต่อสื่อสารของคนในพื้นที่อื่นในโลก มักเลือกแอปแชตอื่นมากกว่าการใช้ iMessage

ที่มา: GSMArena, WSJ