เฟซบุ๊ก (Facebook) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่ของโลก พลาดครั้งใหญ่ด้วยการมอบเครื่องหมายถูกสีฟ้า หรือเครื่องหมาย Verified แก่แฟนเพจที่ปลอมตัวเป็น อีลอน มัสก์

นับเป็นความผิดพลาดอย่างไม่น่าเชื่อของเฟซบุ๊ก เมื่อพวกเขาให้สิทธิ์เครื่องหมายถูกสีฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ยืนยันว่า นี่คือบัญชีผู้ใช้งานจริงของบุคคลสาธารณะแก่แฟนเพจของ อีลอน มัสก์ เพียงแต่ว่า แฟนเพจดังกล่าวเป็นของปลอม เนื่องจากอีลอน มัสก์ ประกาศเลิกใช้งานเฟซบุ๊กไปนานแล้ว

ขณะเดียวกันแฟนเพจดังกล่าว ยังมีผู้ติดตามเพียงแค่ 1.53 แสนคนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับชื่อเสียงอันโด่งดังไปทั่วโลกของ อีลอน มัสก์ โดยเฉพาะบนโลกทวิตเตอร์ ที่มีผู้ติดตามมากถึง 61.9 ล้านคน

ทั้งนี้ แฟนเพจดังกล่าวไม่ได้เริ่มต้นด้วยสถานะการเป็นแฟนเพจปลอมของ อีลอน มัสก์ แต่ได้มีการเปลี่ยนชื่ออย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะแสดงผลอย่างชัดเจนในหน้าความโปร่งใสของเพจ หรือ Page Transparency

แฟนเพจมีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง ก่อนมาเป็นอีลอน มัสก์ภาพ: The Verge
แฟนเพจมีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง ก่อนมาเป็นอีลอน มัสก์ภาพ: The Verge

...

เป็นที่น่าสนใจว่า เพราะเหตุใด ทำไมเฟซบุ๊กถึงให้สถานะเครื่องหมายถูกสีฟ้าแก่เพจดังกล่าว เพราะในความเป็นจริงแล้วการจะได้มาเครื่องหมาย Verified ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องยื่นเรื่อง พร้อมกับเอกสารยืนยันตัวต่างๆ และกรณีที่เป็นคนดังจริงๆ ระบบของเฟซบุ๊กก็จะต้องมีการตรวจสอบก่อนที่จะให้เครื่องหมาย

ส่วนในกรณีนี้ ถ้าหากดูจากความเคลื่อนไหวในเพจก็แทบไม่มีการโพสต์สเตตัสมากนัก ขณะที่ URL ของแฟนเพจ ซึ่งใช้ชื่อว่า https://www.facebook.com/ElonMuskoffic ระบบของเฟซบุ๊กก็น่าจะตรวจจับได้ว่า เป็นของปลอม ดูไม่มีความเป็นทางการแม้แต่น้อย จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เฟซบุ๊กพลาดไปได้อย่างไร

นอกจากนี้ แฟนเพจปลอมของอีลอน มัสก์ ยังเข้าข่ายหลอกลวงอีกด้วย เนื่องจากมีสเตตัสหนึ่ง (ซึ่งลบไปแล้ว) ได้บอกว่า ถ้าหากใครที่อ่านสเตตัสนี้อยู่ ให้โอนเงินมาที่บัญชีของเขาเป็นจำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยบิตคอยน์ เดี๋ยวตัวเขาจะโอนเงินกลับคืนไปให้ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ

แฟนเพจอีลอน มัสก์ ตัวปลอม หลอกให้คนโอนเงินเป็นบิตคอยน์ภาพ: Engadget
แฟนเพจอีลอน มัสก์ ตัวปลอม หลอกให้คนโอนเงินเป็นบิตคอยน์ภาพ: Engadget

ปัจจุบันแฟนเพจปลอมของอีลอน มัสก์ที่ว่านี้ ไม่สามารถเข้าไปดูความเคลื่อนไหวใดๆ ได้แล้ว โดยไม่มีคำยืนยันว่า เป็นเพราะเฟซบุ๊กลบแฟนเพจนี้ออกจากระบบ หรือเป็นการปิดเพจไปเองของเจ้าของแฟนเพจที่ปลอมตัวเป็น อีลอน มัสก์

ที่มา: The Verge, Engadget