ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดตัวระบบปฏิบัติการ Windows 11 เรียบร้อยแล้วในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน แม้ในความเป็นจริงแล้ว ไมโครซอฟท์ เคยวางกลยุทธ์เอาไว้เมื่อหลายปีก่อน โดยวางระบบปฏิบัติการ Windows 10 เป็นระบบปฏิบัติการเวอร์ชันสุดท้าย

เมื่อมาถึงชั่วโมงนี้ ยามนี้ ก็เป็นที่แน่ชัดในคำตอบอยู่แล้วว่าแผนการที่ไมโครซอฟท์เคยวางไว้ก่อนหน้านี้ได้เปลี่ยนไป Windows 10 ไม่ใช่ระบบปฏิบัติการเวอร์ชันสุดท้าย แต่มันถูกสานต่อด้วย Windows 11

ที่น่าสนใจในช่วงท้ายของการเปิดตัว Windows 11 สัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ กล่าวเอาไว้ว่า Windows 11 คือเวอร์ชันแรกของยุคสมัยใหม่ของ Windows ซึ่งประโยคนี้ตีความได้ว่า Windows 11 จะไม่ใช่เวอร์ชันสุดท้ายอย่างแน่นอน

สัตยา นาเดลลา ซีอีโอไมโครซอฟท์
สัตยา นาเดลลา ซีอีโอไมโครซอฟท์

หลังการเปิดตัว Windows 11 แม้จะมีเสียงค่อนขอดให้เห็นอยู่บ้างว่า การมาของระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ของค่ายไมโครซอฟท์ ดูจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ macOS ของค่ายแอปเปิล โดยเฉพาะลักษณะของอินเตอร์เฟสที่มีความสะอาดตา โปร่งแสงคล้ายกระจก การปรับปุ่มเริ่มแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เรียกกันว่า Start Menu จากทางซ้าย ขยับมาอยู่ที่ตรงกลาง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นจากปุ่ม Start Menu บน Windows 11 ก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่นัก เพราะในการปรากฏตัวของ Windows 10x ที่ล้มเลิกไปแล้วก่อนหน้านี้ ปุ่มดังกล่าวก็อยู่ตรงกลางตามที่เห็นบน Windows 11 เช่นกัน

แต่ว่าเรื่องดังกล่าวดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าเปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านระหว่าง Windows 10 ไปเป็น Windows 11 นั่นเป็นเพราะเมื่อครั้งที่ Windows 10 เปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 โลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ก็เป็นไปในลักษณะหนึ่ง เมื่อเทียบกับปี 2021 แล้วความลื่นไหลด้านเทคโนโลยีก็ต่างกัน

ดังจะเห็นได้จากฟีเจอร์การใช้งานของ Windows 11 ซึ่งรองรับการทำงานที่เป็นมัลติทาสก์ (Multitask) มากกว่าเมื่อครั้งเป็น Windows 10 เพราะถ้าหากลองมองดูหน้าจอของคนทำงานมืออาชีพในเวลานี้ พวกเขาไม่ได้ทำงานด้วยหน้าจอเดียว แอปพลิเคชันเดียว แต่มีอะไรไม่รู้ ยุ่บยั่บเต็มไปหมด แน่นอนว่าบริษัทชั้นนำอย่างไมโครซอฟท์มองปราดเดียวก็ดูออกอยู่แล้วว่าโลกของการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์เปลี่ยนไปแค่ไหน

...

ระบบปฏิบัติการ Windows 11
ระบบปฏิบัติการ Windows 11

พร้อมกันนี้ ยังได้เพิ่มการใช้งานใหม่ๆ เข้ามาเพื่อให้สอดรับกับการใช้ชีวิตในการทำงานของมนุษย์ยุคระหว่างและหลังโควิด-19 จะต้องดำเนินต่อไป โดยบูรณาการฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะกับการทำงานทั้งจากที่บ้านและนอกบ้าน มารวมเข้ากับ Windows 11 ดังจะเห็นได้จากแอปพลิเคชัน Microsoft Team ซึ่งถูกชูมาเป็นประเด็นสำคัญในการเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ รองรับกับทุกระบบปฏิบัติการ ทั้ง iOS, Android และ macOS

เช่นเดียวกับความสามารถในการเรียกแอปพลิเคชัน Android บน Windows 11 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างแอมะซอน (Amazon) กลายเป็นการตอกย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงของไมโครซอฟท์ในระบบปฏิบัติการ Windows 11 พูดง่ายๆ มันคือการเปิดประตูต้อนรับ Android โดยเจ้าของบ้านอย่างไมโครซอฟท์

จากประเด็นข้างต้นนับว่าสอดคล้องกับนโยบายการผูกมิตรกับทุกบริษัทเทคโนโลยีของสัตยา นาเดลลา ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล (Apple) หรือกูเกิล (Google) ก็ตาม และยินดีที่จะนำระบบนิเวศของตัวเอง ไปลงบนแพลตฟอร์มคู่แข่ง (แม้จะมีบางครั้งที่ไมโครซอฟท์ออกมาแขวะทั้งสองค่ายอยู่บ้างในประเด็นค่าธรรมเนียมการวางจำหน่ายแอปพลิเคชันบนสโตร์) หรือแม้แต่การให้แพลตฟอร์มอื่นๆ มาอยู่บน Windows 11 หรือเวอร์ชันใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

Windows 11 บนอุปกรณ์ต่างๆ
Windows 11 บนอุปกรณ์ต่างๆ

เมื่อพูดถึงเรื่องของสโตร์แล้ว การตัดสินใจของไมโครซอฟท์ ซึ่งจะเปิดกว้างให้นักพัฒนาสร้างระบบการจ่ายเงินด้วยตัวเอง โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ แต่ถ้าจะใช้บริการจากไมโครซอฟท์ จะมีค่าธรรมเนียมเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งถูกกว่าผู้ให้บริการสโตร์ยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลและกูเกิล ที่เรียกเก็บมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าเป็นโอกาสในการขยายฐานครั้งสำคัญอย่างยิ่งยวดของไมโครซอฟท์ก็คงไม่ผิดนัก

เท่านั้นไม่พอ ในแง่ของความบันเทิงอย่างเกม ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และให้ความสำคัญมากขึ้น หลังการก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอของสัตยา นาเดลลา

ในหนังสือ Hit Refresh ซึ่งเขียนโดยสัตยา นาเดลลา จะเห็นได้ว่าสัตยา เข้าใจธุรกิจเกมเป็นอย่างดี พร้อมกับมีมุมมองว่าธุรกิจเกมเป็นสื่อประเภทหนึ่งใหญ่โตอย่างมากในแง่ของความบันเทิง (ซึ่งอุตสาหกรรมเกมแซงหน้าภาพยนตร์ฮอลลีวูดมานานแล้ว) และยินดีเปิดไฟเขียวขยายธุรกิจเกมของไมโครซอฟท์ให้โตขึ้นเพื่อแข่งขันกับโซนี่ (Sony) ซึ่งเห็นได้จากการซื้อ Mojang Studio ผู้พัฒนาเกม Minecraft และการซื้อ ZeniMax Media บริษัทแม่ของ Bethesda

...

ธุรกิจเกมเป็นธุรกิจสำคัญของไมโครซอฟท์
ธุรกิจเกมเป็นธุรกิจสำคัญของไมโครซอฟท์

ซาราห์ บอนด์ หัวหน้าฝ่าย Game Creator Experience ระบุว่า ฟังก์ชันการเล่นเกมบนระบบปฏิบัติการ Windows 11 ได้มีการพัฒนาในหลายส่วน ทั้ง Auto HDR ซึ่งจะทำให้สีและแสงภายในเกมสวยงามขึ้น ตามด้วย DirectStorage โดยจะช่วยเรื่องของการสตรีมเกมไปยัง GPU เพื่อลดการทำงานที่หนักหน่วงลงของ CPU ต่อมาเป็น Xbox Game Pass ระบบสมัครสมาชิกการเล่นเกม เพื่อให้เกมเมอร์สามารถเข้าถึงเกมได้ง่ายและสะดวก โดยมีคลังเกมมากกว่า 100 เกม

สุดท้ายเป็นระบบข้ามแพลตฟอร์ม ข้ามไฟล์เซฟเกม เพื่อให้เล่นเกมได้บนทุกอุปกรณ์ต่อเนื่องไม่มีสะดุด โดยทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนถูกผนวกรวมกันในระบบปฏิบัติการ Windows 11

นอกเหนือจากนี้ การที่ไมโครซอฟท์ ยอมเปลี่ยนใจเข็นระบบปฏิบัติการ Windows 11 ออกมา แม้จะเคยลั่นวาจาเอาไว้ว่า Windows 10 จะเป็นระบบปฏิบัติการเวอร์ชันสุดท้าย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมาของ Windows รุ่นใหม่ๆ สามารถกระตุ้นรายได้ให้กับไมโครซอฟท์ได้เป็นอย่างดี ทั้งในส่วนคอมพิวเตอร์พร้อมใช้ โดยฝัง Windows 11 รอให้เปิดใช้งาน, อุปกรณ์ไฮเทคอื่นๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 11 ไปจนถึงการขายคีย์สำหรับติดตั้ง Windows 11 โดยเฉพาะ เพราะต้องไม่ลืมว่า ตลาดอุปกรณ์ไอทีเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปิดตัว Windows 11 จะกลายเป็นช่องทางการสร้างกระแสเงินสดให้ไมโครซอฟท์สามารถตักตวงได้เรื่อยๆ

...

Windows 11 กับแนวทางใหม่ที่ปรับให้ทันสมัยขึ้นของไมโครซอฟท์
Windows 11 กับแนวทางใหม่ที่ปรับให้ทันสมัยขึ้นของไมโครซอฟท์

ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ก็มองได้ว่า Windows 11 มีการเปลี่ยนแปลงที่เยอะเกินไป เยอะจนกระทั่งทีมงานของไมโครซอฟท์ ประเมินว่า ควรที่จะนับเลขใหม่ เพื่อความเหมาะสม

ในภาพรวม Windows 11 เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ มีความทันสมัย เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลัง แม้ว่าจะยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่บ้างว่าเครื่องมือต่างๆ จาก Windows 10 มาใช้บน Windows 11 จะมีความเข้ากันได้ (Compatible) หรือไม่ ประเด็นความมั่นคง (Security) เป็นอย่างไร ด้านเทคโนโลยี ความเป็นส่วนตัว มีนโยบายอย่างไร ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ชัดอีกครั้ง เมื่อ Windows 11 ถูกปล่อยให้อัปเดตอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือนตุลาคม