มองย้อนสภาวการณ์กรณี “เร่งรีบสู่ระบบคลาวด์” ของธุรกิจเอเชียแปซิฟิก ในยุคโควิด-19 อาจกลายเป็นการลงทุนที่ผลีผลาม นำไปสู่ปัญหา cloud sprawl หรือการแพร่กระจายการใช้งานคลาวด์อย่างไม่สามารถควบคุมได้ นำไปสู่การสูญเสีย 30% ของพื้นที่คลาวด์อย่างสิ้นเปลือง

นายวีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตแอพ ประจำประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงปีแรก ส่งผลให้หลายบริษัททะยานสู่การใช้งานระบบคลาวด์ เพื่อเป็นช่องทางที่จะทำ
ให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นและมั่นคงเพียงชั่วข้ามคืน จึงไม่น่าแปลกใจที่ปีนี้สถิติการใช้ระบบคลาวด์สาธารณะของประเทศไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 25.2% ด้วยมูลค่า 22,900 ล้านบาท

“เศรษฐกิจของประเทศที่ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง ทำให้ธุรกิจต้องบริหารจัดการการเงินอย่างรอบคอบ ขณะที่ระบบคลาวด์เป็นช่องทางที่ช่วยให้บริษัทสามารถตอบสนองต่อปัญหาและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การเร่งรีบนำระบบคลาวด์มาใช้ก็อาจทำให้บริษัทต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่ไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือหรือไม่สามารถควบคุมได้ในระยะยาว”

เนื่องจากการใช้งานระบบคลาวด์สามารถเปรียบได้กับรูปแบบการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งจะมีตัวให้บริการที่ทำงานเสมือนตัวจ่ายพลังงานออกไป บริษัทสามารถพึ่งพาผู้ให้บริการระบบคลาวด์ ในการควบคุมดูแลศูนย์ให้ข้อมูลจากภายนอก ในขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์จากความสามารถภายในของระบบคลาวด์ เช่น ความพร้อมในการใช้งานที่มีในระดับสูง ขนาดพื้นที่ให้บริการที่ยืดหยุ่น และโครงสร้างของระบบที่ปลอดภัย การทำงานของระบบคลาวด์นั้นถูกสร้างให้เหมาะสมกับการเข้าถึงทางไกล จ่ายค่าใช้บริการตามการใช้งานจริง แต่หากเผลอปล่อยทิ้งไว้อย่างสิ้นเปลืองโดยไม่ได้ใช้งานก็อาจส่งผลให้ต้องจ่ายบิลค่าไฟในราคาที่สูงเกินคาดคิดได้

...

“หลังเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้อยู่ในระบบคลาวด์ บริษัทอาจกำลังเผชิญปัญหาด้านการควบคุมดูแลและการจัดการการใช้งานคลาวด์จากผู้ใช้งานที่หลากหลายและมีจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวเรียกว่า cloud sprawl หรือการแพร่กระจายการใช้งานคลาวด์อย่างไม่สามารถควบคุมได้ ปัญหานี้นำไปสู่การสูญเสีย 30% ของพื้นที่คลาวด์ไปอย่างสิ้นเปลือง”

นายวีระกล่าวว่า การยกย้ายข้อมูลไปบนระบบคลาวด์นั้น ทำได้ไม่ยากเย็นนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เป็นความจริงที่ในทางเทคนิค เราสามารถทำงานหรือธุรกิจต่างๆได้บนคลาวด์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการทำงานและแอปพลิเคชันที่ใช้ภายในองค์กร ในสถานะและรูปแบบปัจจุบันจะได้รับการปรับให้เหมาะสมกับการทำงานบนคลาวด์เสมอไป เช่น รหัสเดิมบนแอปพลิเคชันถูกใช้งานบนซอฟต์แวร์ที่ล้าสมัยไปแล้ว เป็นต้น “บริษัทจึงควรพิจารณาว่าแอปพลิเคชันใดบ้างที่ควรย้ายกลับเข้าไปใช้แค่ภายในองค์กร อะไรที่ควรอยู่บนระบบคลาวด์ เพื่อควบคุมการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และใช้งานได้อย่างคุ้มค่าไม่สิ้นเปลือง”.