อดีตซีอีโอกูเกิลประเมินสถานการณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า โลกอินเตอร์เน็ตจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้วชัดเจน จากความพยายามของจีนในการสร้างมาตรฐานอินเตอร์เน็ตของตัวเอง นำไปสู่การแบ่งขั้วสหรัฐฯ-จีนภายในปี 2571
อีริค ชมิดต์ อดีตซีอีโอของกูเกิล บอกว่า การเซ็นเซอร์และควบคุมการใช้งานอินเตอร์เน็ตของพลเมืองจีนโดยรัฐบาล จะทำให้ในที่สุดโลกของอินเตอร์เน็ตถูกแบ่งออกเป็น 2 ฟากฝั่ง ฝั่งตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกาและฝั่งตะวันออกเป็นของจีน
ปฏิบัติการดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่การนำพลเมืองจีนเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต โดยรัฐบาลจีนสกัดการท่องโลกออนไลน์อย่างเสรี ด้วยการใช้เครื่องมือปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ยกตัวอย่างเช่น บล็อกการใช้งานเว็บไซต์ยอดนิยม อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูบ
และเมื่อเครือข่ายและการใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศจีนเติบโตสูงสุด ประชาชนตอบรับการซื้อขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงการขยายตัวของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เต็มรูปแบบ ทำให้ในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2571 จีนจะผงาดขึ้นสู่การเป็นผู้นำโลกอินเตอร์เน็ต ในขั้วซึ่งตรงกันข้ามกับสหรัฐอเมริกา
ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มยอดนิยมในประเทศจีน ซึ่งได้รับผลพวงจากจำนวนประชากรขนาดใหญ่ 1,300 ล้านคน ทำให้มียอดการใช้งานเติบโตต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นไป่ตู้ (Baidu) เว็บเพื่อการค้นหาหรือเสิร์ชเอนจิ้น เทียบเท่ากูเกิล, วีแชท (WeChat) แอปพลิเคชันเพื่อการสนทนา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานเป็นประจำทุกเดือนอยู่ 1,000 ล้านคน ตลอดจนเถาเป่า (Taobao) เว็บไซต์ขายปลีกในเครืออาลีบาบา ซึ่งเป็นลมใต้ปีกดันให้อาลีบาบาเติบโตในระดับสากลได้สำเร็จ
ชมิดต์ บอกว่า มูลค่าการค้าขายบนอินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของจีน คิดเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ในการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศหรือจีดีพี เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา
...
เมื่อดูเหมือนว่ารัฐบาลจีน จะไม่มี วี่แววผ่อนปรนการใช้งานอินเตอร์เน็ตในประเทศให้มีเสรีภาพมากขึ้น การเป็นผู้นำในอีกด้านของจีน ก็จะขยายตัวในแบบที่เป็น นั่นคือปิดกั้น มีระบบกลั่นกรอง ควบคุมต่อไป
อีริค ชมิดต์ ยังแสดงความกังวลต่ออนาคตของโลกเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลาที่ผ่านมา โดย เฉพาะในประเด็นของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งเขาเชื่อว่าขณะนี้ประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา รวมรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญของ AI ในอนาคตประเทศที่มี AI ล้ำหน้า มีโอกาสจะเป็นผู้ชนะ
ความทะเยอทะยานของประเทศเหล่านี้ จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะ AI เพื่อการพาณิชย์เท่านั้น แต่ขยายขอบเขตไปสู่การพัฒนาเพื่อความมั่นคงและการทหารด้วย.