ในยุคเว็บ 2.0 เฟื่องฟู ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแชร์หรือการแบ่งปันข้อมูล ที่กลุ่มผู้ใช้งานทั้งหลายร่วมกันในรูปแบบสื่อสังคมออนไลน์ กลุ่มผู้ใช้งานทั้งหลายสามารถสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ขึ้นเอง ในยุคของการกำเนิด YouTube, Facebook, My Space หรือแม้แต่สารานุกรมออนไลน์อย่าง Wikipedia
เห็นได้ชัดเจนว่ายุคนี้ได้มีการพัฒนาและมีการโต้ตอบระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้งานแทนระบบเว็บแบบเดิมที่บริการให้เข้ามาอ่านอย่างเดียว มีบริการแสดงความคิดเห็น การใช้งานที่ง่ายๆ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้การเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลในยุคนี้ดังที่เราเห็นกัน
Wikipedia (วิกิพีเดีย) ซึ่งเกิดในยุคดังกล่าว เป็นสารานุกรมเสรีที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิวิกิพีเดีย ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร โดยอาศัยเงินจากการบริจาค เนื้อหาในวิกิพีเดียมีผู้เข้ามาอัปเดต สามารถแก้ไขได้ทุกเนื้อหาอย่างเสรี กลายเป็นแหล่งอ้างอิงทั่วไปที่ใหญ่ที่สุดและได้รับความนิยมมากที่สุดบนอินเตอร์เน็ต
มีการกล่าวถึงวิกิพีเดียบ่อยครั้ง ในแง่ของความแตกต่างจากการทำสารานุกรมแบบเดิมที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเป็นผู้จัดทำขึ้น และจากการรวบรวมเนื้อหาที่ไม่เป็นวิชาการจำนวนมาก นิตยสารไทม์ได้จัดให้เป็นบุคคลแห่งปี (You) ในปี พ.ศ.2549 ซึ่งนับว่าเป็นการยอมรับความสำเร็จจากความร่วมมือและการเข้ามามีส่วนร่วมออนไลน์ของผู้ใช้หลายล้านคนทั่วโลกได้มีการอ้างอิงข้อมูลของวิกิพีเดีย
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดให้สมาชิกเข้าไปแก้ไขข้อมูลได้ ซึ่งบางครั้งไม่มีแหล่งอ้างอิงข้อมูลทำให้ข้อมูลไม่ได้รับความเชื่อถืออย่างเป็นทางการ ซึ่งเวลาเราไปดูข้อมูลจะต้องสังเกตดูจากแหล่งอ้างอิงเพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลอีกที ทำให้สามารถแยกแยะความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้
...
ในยุคกระแสของผู้ช่วยส่วนตัวดิจิทัลในปัจจุบันที่ยักษ์ใหญ่หลายค่ายกำลังเร่งพัฒนาทักษะความสามารถการรับฟังคำสั่งเสียงให้มีทักษะความสามารถหลากหลายและรองรับความซับซ้อนมากขึ้นและได้รับความนิยมใช้งานกันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Siri ของแอปเปิล Google Home ของกูเกิล และ Alexa ของอเมซอน ซึ่งผู้ช่วยเลขาดิจิทัลทั้ง 3 ค่ายนี้มักใช้บริการของวิกิพีเดียเพื่อตอบคำถามของผู้ใช้งานเมื่อต้องการถาม
ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า สารานุกรมออนไลน์นี้เปิดกว้างให้ใช้บริการฟรีสำหรับทุกคน และมีบริษัท ธุรกิจการค้าจำนวนมากที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีความยินดีบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนให้วิกิพีเดียสามารถเดินหน้าทำงานต่อไปได้ เช่น แอปเปิล มักปรากฏในรายชื่อผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ ขณะที่กูเกิลเองก็เป็นหนึ่งในผู้บริจาคในปีที่ผ่านมาบริจาคไปแล้วจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ผู้บริหารของวิกิพีเดียได้ออกมาบ่นหลายเดือนก่อนว่า มีบริษัทบางแห่งได้เข้ามาใช้ประโยชน์ โดยผู้ช่วยส่วนตัวดิจิทัลทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างคนกับวิกิพีเดียแต่ไม่ได้มีการบริจาคเงิน แต่ล่าสุดวิกิพีเดียได้ประกาศเมื่อวันที่ 26 ก.ย. อเมซอนได้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์ และทักษะ Alexa ของอเมซอนจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทำการบริจาคให้วิกิพีเดียด้วยคำสั่งเสียงได้เช่นกัน
นั่นหมายถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือที่จะทำให้องค์กรไม่แสวงกำไรสามารถอยู่รอดให้บริการออนไลน์ฟรีในระยะยาวได้!!
หนุ่มดิจิทัล
cybernet@thairath.co.th