“ออมสิน” เด้งรับนโยบาย “บิ๊กตู่” ปราบทุจริตเงินทอนวัด จ่อหารือกับ ผอ.พศ.และกรรมการมหาเถรสมาคม 3 รูป วันที่ 12 ก.ค.นี้ รวมทั้งเรื่องทำบัตรสมาร์ทการ์ดพระ โดยคดีเงินทอนวัดเน้นให้ตรวจสอบรวดเร็วรอบคอบ ไม่จำเป็นต้องรอผลสอบ ป.ป.ช. ด้าน ผอ.พศ.เผย ส่งข้อมูลเงินอุดหนุนวัดให้ บก.ปปป.และ ป.ป.ช. แล้ว พร้อมแจงงบอุดหนุนพระอารามหลวง หลังพระพุทธะอิสระ ออกมาโพสต์แฉในเฟซบุ๊กส่วนตัว ขณะที่กรุงเทพโพลสำรวจตัวอย่างความคิดเห็นของประชาชนพบว่าร้อยละ 66.1 ไม่เชื่อมั่นความโปร่งใสต่อหน่วยงานที่ดูแลพระพุทธศาสนา

กรณีกองบังคับการตำรวจปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เข้าตรวจสอบการทุจริตเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด หรือคดีเงินทอนวัด พบมีความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท ได้รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ ป.ป.ช.ไปแล้วชุดหนึ่ง ขณะที่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สั่งให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตรวจสอบวัด ชุดแรก 12 วัด ให้เสร็จภายใน 60 วัน พร้อมตั้งคณะกรรมการฯอีกชุดทำหน้าที่สืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงบอุดหนุนวัดทุกเรื่อง และไม่ต้องใช้ มาตรา 44 โยกย้ายผู้บริหาร พศ.ที่มีชื่อเอี่ยวทุจริต ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

ความคืบหน้าบ่ายวันที่ 9 ก.ค. พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (บก.ปปป.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ขอข้อมูลบัญชีการโอนงบประมาณการบูรณปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่ใดนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่งให้ บก.ปปป.และ ป.ป.ช.แล้ว สำหรับการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีงบฯบูรณปฏิสังขรณ์วัด หากครบกำหนด 60 วันแล้วยังได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน สามารถขยายเวลาออกไปได้ ข้อมูลการสืบสวนจะเป็นความลับ

...

ผอ.พศ.กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีพระพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม นำรายชื่อพระอารามหลวงทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกายมาเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าได้รับงบประมาณจัดสรรเป็นจำนวนมากว่า หลักเกณฑ์การอุดหนุนงบฯบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามหลวง และวัดราษฎร์ ไม่มีการกำหนดจำนวนเงิน พระอารามหลวงที่เสนอของบฯบูรณปฏิสังขรณ์ที่จำเป็นมายัง พศ. จะได้รับการ พิจารณาจัดสรรงบฯไว้ลำดับต้นๆ เพราะพระอารามหลวงอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยกตัวอย่างเช่น กรณีล่าสุด วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีโครงการจัดสร้างอาคารภุชงค์ ได้เสนอของบฯมายัง พศ. จากนั้น พศ.ได้เสนอเรื่องไปยังสำนักงบประมาณ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล สำนักงบประมาณก็จัดสรรงบฯกลางอุดหนุนให้วัดประมาณ 30 ล้านบาท พศ.รับงบฯอุดหนุนดังกล่าวแล้วส่งไปให้วัดทันที กรณีเช่นนี้เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นวัดของสมเด็จพระสังฆราช และยังไม่มี อาคารที่เป็นพระตำหนัก ต้องดำเนินการเป็นพิเศษ

ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มอบหมายให้ตรวจสอบการทุจริตเงินอุดหนุนงบวัดว่า กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ดำเนินการอยู่ ตนได้ดำเนินการในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้อยู่ในร่องในรอย การดำเนินการสอบสวนของตำรวจจะได้เรียบร้อย และจะหารือกับ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.พศ. อีกครั้งในวันที่ 12 ก.ค.นี้ มีกรรมการมหาเถรสมาคม 3 รูป เข้าหารือด้วยที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม อยากให้ทำด้วยความรอบคอบรวดเร็ว ที่สำคัญต้องการให้เป็นไปอย่างเงียบๆ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าค้นวัด เพราะไม่ต้องการให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก การปราบปรามทุจริตเป็นนโยบายหลักรัฐบาล นายกฯกำชับมาตรการปราบทุจริตคอร์รัปชันเสมอ แต่ขณะนี้ผลตรวจสอบยังไม่ออกมาว่าใครผิดใครถูก แต่เหมือนกับสังคมได้พิพากษาไปเรียบร้อยแล้วว่าใครผิด สุดท้ายแล้วพระอาจไม่ได้ผิดแต่เป็นฝ่ายฆราวาสผิดก็ได้ กำชับ ผอ.พศ.ไปแล้วว่าต้องทำรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องรอผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. เพราะสามารถทำคู่ขนานไปพร้อมกันได้

นายออมสินกล่าวอีกว่า วันประชุม พศ. จะหารือการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดพระด้วย ไม่ใช่เรื่องใหม่ มหาเถรสมาคม (มส.) เคยพูดคุยเรื่องนี้แล้วแต่เงียบไป ทราบว่าขณะนี้พระสงฆ์มีบัตรประจำตัวประชาชนที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่ โดยถ่ายรูปพระและมีเลขประจำตัว 13 หลักเหมือนกัน เมื่อมีบัตรประชาชนอยู่แล้วก็เพิ่มเติมเป็นการแยกฐานข้อมูลเข้าไป นอกเหนือจากที่มีระบุในบัตรประชาชน คือข้อมูลของพระ เช่น บวชที่ไหน จำวัดที่ไหน บวชมานานกี่พรรษา ขณะนี้สมณศักดิ์เป็นอย่างไรเข้าไปด้วย

ขณะที่กรุงเทพโพล โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็น เรื่อง “เงินทอนกับความเลื่อมใสในพุทธศาสนา” เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 1,193 คน พบว่า เมื่อถามความเห็นของชาวพุทธว่ามีผลต่อการทำบุญหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 57.7 เห็นว่าไม่มีผลต่อการทำบุญ คิดว่าจะ บริจาคเหมือนเดิม เพราะทำบุญให้วัด ขณะที่ร้อยละ 42.3 เห็นว่ามีผลต่อการทำบุญ ในจำนวนนี้ร้อยละ 25.0 ระบุว่า ทำให้ต้องคิดก่อนตัดสินใจบริจาค รองลงมาร้อยละ 11.3 ระบุว่า ทำให้ไม่อยากบริจาคให้แก่กิจกรรมใดๆทางพุทธศาสนา และร้อยละ 6.0 ระบุว่า ทำให้ต้องตรวจสอบวัดนั้นๆ

เมื่อถามต่อว่า กรณีเงินทอนวัด หรือการทุจริตเงินอุดหนุนวัด มีผลมากน้อยเพียงใดต่อการทำให้ความศรัทธา หรือเลื่อมใสในพุทธศาสนาลดลง ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.7 เห็นว่ามีผลน้อย ขณะที่ร้อยละ 35.3 เห็นว่ามีผลมาก ด้านความเห็นต่อมาตรการที่ควรใช้เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ทางพุทธศาสนา พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.6 อยากให้ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในพุทธศาสนาอย่างจริงจัง รองลงมา ร้อยละ 32.1 อยากให้ออกกฎหมายดูแลควบคุมทรัพย์สินวัดอย่างรัดกุม และร้อยละ 10.3 อยากให้ใช้ ม.44 ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานที่ดูแลด้านพระพุทธศาสนาว่า จะทำงานด้วยความโปร่งใส ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 66.1 เชื่อมั่นน้อย ขณะที่ร้อยละ 33.9 เชื่อมั่นมาก