มองเขาแล้วย้อนดูตัวเรา! ดร.เอนก แนะคนไทยเลิกดูถูกประเทศตัวเอง มองภาพรวมเศรษฐกิจยังดี ชี้ให้มองอินเดีย และจีน เป็นตัวอย่าง ช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าในอนาคต
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับหลายประเทศทั่วโลก ทั้งความสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐ หรือระหว่างภาคเอกชน ส่งผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะในอนาคตสามารถคาดเดาได้ยากว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะแต่ละประเทศก็มีนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปตามผู้นำ หลายประเทศจากเคยมีความสัมพันธ์อันดี ก็กลับขัดแย้ง หรือบางประเทศก็อยู่ในกรณีตรงกันข้าม
ร.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการสภา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอันดับ 33 ของโลกและมีกำลังซื้อเป็นอันดับ 22 ของโลก แต่หากพูดถึงที่ตั้งในปัจจุบัน ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของไทยมีความเหมาะสมเพราะไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และหากมองจากตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจพบว่ากำลังพัฒนาไปอย่างแต่เนื่อง
“แม้คนไทยหลายรายอาจจะยังดูถูกประเทศของตน แต่ก็คงเพราะต้องการให้เจริญมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งอยากให้ลดพฤติกรรมนี้ลง ไม่เช่นนั้นเราอาจจะพัฒนาได้น้อยกว่าจีนที่ตอนนี้เป็นประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอันดับ 2 แต่คู่แข่งที่น่าจับตามองคือ อินเดีย”
ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขยายตัวปีละร้อยละ 5-15 และมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าจีนเพราะมีประชากรวัยทำงานมากกว่า จึงเป็นคู่แข่งที่สำคัญมากกว่าชาติตะวันตกอย่างเยอรมันและฝรั่งเศสที่มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีร้อยละ 70-80 ตามลำดับ
...
ร.ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวอีกว่า ไทยควรมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างระมัดระวัง แต่ก็ควรมองปัจจัยภายในของหลายประเทศให้เป็นโอกาส อาทิ ญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยมากสุดร้อยละ 30 แต่ยังขาดแคลนด้านแรงงาน เพราะมีอัตราส่วนวัยทำงานน้อยกว่าผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทองของผู้ปกครองที่ควรส่งเสริมให้บุตรหลานเรียนภาษาญี่ปุ่นและทำงานในบริษัทญี่ปุ่นซึ่งให้ค่าตอบแทนสูงกว่า
ด้าน ร.ศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข หัวหน้าสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากความขัดแย้งกันของประเทศมหาอำนาจ อย่างการคว่ำบาตรการ์ตาของ 6 ประเทศตะวันออกกลางนั้น เนื่องจากเพียงการคว่ำบาตรสัปดาห์เดียว ก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลง เพราะกาตาร์มีความจำเป็นต้องผลิตน้ำมันเพิ่มเพื่อชดเชยรายได้จากการถูกตัดความสัมพันธ์
ขณะที่ กลุ่มโอเปกก็ยังคงการผลิตน้ำมันอยู่ในระดับเดิม แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มายังไทยได้ ขณะเดียวกันจะได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของไทยที่อาจได้รับ