วันก่อนมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งเขียนอีเมลมาว่า “...ดิฉันเก็บกรุหนังสือตัวเองแล้วได้เจอซีรีส์หนังสือของครู "เรียนภาษาอังกฤษกันเข้าไปแต่พูดไม่ได้สักที” (เล่ม 1-3) ซื้อเมื่อปี ค.ศ. 2002 ย้อนกลับมาอ่านอีกรอบ เพื่อทวนตัวเอง อ่านๆ ไปวิธียังทันสมัยจริงๆ ค่ะครู!!!! แต่ตอนนี้ดิฉันประสงค์การเรียนภาษาเยอรมันเลยจะเอาวิธีต่างๆ มาใช้กับภาษาที่สามนี้แทนแต่จะวนไปใช้ทวนกับภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน
ตอนนี้มีแชร์ให้น้องๆ ในทีมที่ทำงานอ่าน เพราะไม่แน่ใจว่ายังมีขายอยู่ไหม....
ขอบคุณครูนะคะ สำหรับแนวทางการเรียนภาษาดีๆ แบบนี้...ที่ยังงงอยู่ว่าผ่านมาเกือบ 15 ปีแล้ว ดูเด็กไทยก็ยังกลัวๆ การพูดอังกฤษกันอยู่เยี่ยงเดิม LOL…”
เลยขออนุญาตนำข้อความและคำตอบมาเผยแพร่ในคอลัมน์นี้ด้วยค่ะ ว่า “....เทคนิคนี้สามารถนำไปใช้กับการเรียนภาษาใดๆ ก็ได้ในโลกนี้ รวมถึงการเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษาด้วยค่ะ เทคนิคที่เขียนในหนังสือจะยังทันสมัยอยู่ตลอดเวลาเพราะครูเคทไม่ใช่คนสร้างขึ้นมา เพียงแต่เป็นผู้สังเกตการณ์ธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งมีติดตัวมาแต่กำเนิดและนำมาใช้ให้เป็นผลนั่นเองค่ะ
การที่เวลาผ่านมานานแล้ว และในประเทศไทยมีครูที่มีเทคนิคการสอนใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมายหลายร้อยหลายพันคน แต่คนไทยก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักที ทั้งนี้ก็เพราะคนไทยมุ่งแต่เรียนรู้ในสิ่งที่จับต้องได้วัดผลได้ (เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเองว่าดีกว่าหรือแย่กว่าคนอื่นอย่างไร) ไม่ได้เรียนเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น การเรียนรู้อย่างนี้จึงเต็มไปด้วยความทุกข์ ความวิตกกังวล อันนำไปสู่ความล้มเหลวในการเรียนรู้และการเกิดทักษะเพื่อนำไปใช้ค่ะ
ความวิตกกังวลที่ทำให้คนไทยไม่กล้าพูดภาษาต่างประเทศหรือแม้แต่เรียนก็ยังไม่เข้าหัว คือ การยึดติดอยู่กับอัตตาของตนเองค่ะ ยิ่งนึกถึงตนเองมากเท่าไร ก็ยิ่งกลัวว่าตนเองจะไม่ดี ดูด้อยในสายตาผู้อื่น ทั้งนี้เป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมกลุ่ม ที่ชอบมีการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ให้สังเกตว่าเด็กเล็กๆ จะเรียนภาษาได้ดีกว่าผู้ใหญ่ก็เพราะเขายังไม่มีอัตตาหรือความยึดติดในภาพลักษณ์ของตนเองมากนัก เขาจึงสนุกสนานที่จะเรียนรู้ เลียนแบบ และทดลองทำสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะผิดจะถูก จะด้อยกว่าหรือดีกว่าคนอื่นอย่างไรค่ะ
...

ขอให้ลองสังเกตตัวเองขณะฝึกฝนและใช้ภาษาต่างประเทศดูนะคะ ในสภาวะผ่อนคลายคุณจะพูดได้ดีมาก เพราะใจของคุณจะอยู่กับคู่สนทนาและสิ่งที่กำลังพูดคุย แต่ในสภาวะที่ไม่คุ้นเคย รู้สึกกดดัน คุณจะรู้สึกว่าสมองเอ๋อ ฟังไม่ออก พูดไม่ออก เพราะคุณกลับมาอยู่กับอัตตาของตัวเอง กลัวผิด กลัวคนดูถูกค่ะ ในสภาวะที่คุณมีความกังวลใจถึงความยากง่ายของภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาวะเอ๋อเหมือนกัน เพราะคุณกำลังกังวลหรือสงสัยในตัวเองว่าคุณมีความสามารถพอที่จะเข้าใจอะไรที่ไม่คุ้นเคยหรือซับซ้อนได้หรือไม่ ทำให้คุณเกิดสภาวะเรียนแล้วไม่เข้าใจ ไม่เข้าหัว สมองขี้เกียจคิดต่อ ฯลฯ
ดังนั้น ถ้าคุณกังวลให้น้อยลงว่าคนอื่นเขาจะมองคุณอย่างไร โดยเปลี่ยนเป็นให้ความสนใจคู่สนทนาหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า คุณจะพบว่าความกังวลใจจะหายไปเยอะแล้วสมองก็จะดูสดใสมากกว่าปกติ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอค่ะ
ฝึกฝนภาษาและเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองไปด้วยนะคะ จะเกิดปัญญาหรือความรู้ขั้นลึกซึ้ง และเกิดเป็นทักษะติดตัวเหมือนภาษาไทยไงคะ
ป.ล. หากต้องการหนังสือสั่งซื้อได้ที่โรงเรียนสอนภาษาครูเคท หรือ www.krukate.com เลยค่ะ...”
ใครมีปัญหา ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกมpanic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 0814581165 หรือเข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ