อัลเบิร์ต ไอสไตน์ นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมัน ได้คาดการณ์ไว้เมื่อ 100 ปีที่แล้วถึงการเกิดคลื่นความโน้มถ่วง (gravitational waves) ต่อมานักวิทยาศาสตร์ตรวจพบคลื่นดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปี 2558 โดยเกิดขึ้นจากหลุมดำขนาดใหญ่ 2 หลุมในอวกาศปล่อยคลื่นความโน้มถ่วงออกมา จากนั้นก็ตรวจเจอครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 ม.ค.2560 โดยหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงโดยใช้อินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ชนิดเลเซอร์ (Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory) หรือเรียกไลโก (LIGO) ติดตั้งอยู่ที่รัฐหลุยเซียนาและรัฐวอชิงตัน ในสหรัฐอเมริกา ครั้งนั้นเครื่องไลโกทั้ง 2 แห่งพบการสั่นสะเทือนของหลุมดำ 2 หลุมที่ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 20–30 เท่า ก่อนที่จะหมุนวนเข้าหากันและรวมเข้าด้วยกันกลายเป็นหลุมดำขนาดใหญ่
แต่มีรายงานการตรวจพบครั้งล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้เป็นครั้งที่ 3 นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเครื่องไลโกตรวจจับการปะทะกันของคลื่นความโน้มถ่วงที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 3,000,000,000 ปีแสง ใหญ่เป็น 2 เท่าของการตรวจพบก่อนหน้านี้ โดยการจำลองจับคู่ของรูปร่างคลื่นในคอมพิวเตอร์ ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าหลุมดำคู่นี้มีแนวโน้มที่จะหมุนไปในทิศทางที่แตกต่างกันก่อนที่จะผสานรวมตัวกัน ซึ่งนักฟิสิกส์ของสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจียเผยว่านี่คือเบาะแสว่าหลุมดำมีการแยกตัวออกจากกลุ่มดาวที่หนาแน่น และเมื่อมันจมลงสู่แกนกลางของกระจุกดาว ก็กลับมาจับคู่กันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการค้นพบในครั้งนี้จะเป็นจุดหักเหของการศึกษาวิจัยสาขาดาราศาสตร์ว่าคลื่นความโน้มถ่วงอาจจะช่วยไขคำตอบว่าจักรวาลก่อตัวขึ้นอย่างไร.