เปิดโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง ก่อนเริ่มต้นออกเดินธรรมยาตราในวันที่ 21 พ.ค. จากวัดที่อุบลฯ ไปจนครบอีก 4 ประเทศในอาเซียน ก่อนกลับมาปิดโครงการในวัดที่สมุทรปราการ ...

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ห้องประชุมบริษัทไทยนครพัฒนาจำกัด จ.นนทบุรี พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา อินเดีย นายวินัย วีระภุชงค์ ประธานมูลนิธิวีระภุชงค์ นายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และคณะกรรม แถลงความคืบหน้าการจัดโครงการ "ธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ตามรอยพระอริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำโขง" ประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่จะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 21 พ.ค. ถึงวันที่ 4 มิ.ย.รวม 15 วัน

สำหรับโครงการดังกล่าว จะเริ่มต้นออกเดินธรรมยาตราในวันที่ 21 พ.ค. ที่วัดบูรพา ต.กุศกร อ.ตระกานพืชผล จ.อุบลราชธานี หลังพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ คณะสงฆ์และผู้ที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 120 รูป/คน จะปักกลดเป็นวันแรกที่มูลนิธิอริยธาตุเจดีย์ศรีสุวรรณภูมิ วัดบูรพา จากนั้นคณะทั้งหมด จะเริ่มออกเดินธรรมยาตรา และพระสงฆ์จะออกรับบิณฑบาตไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้จาก จ.อุบลราชธานี มุ่งหน้าเข้าสู่ สปป.ลาว ต่อเข้าสู่ประเทศกัมพูชา ประเทศเวียดนาม เมียนมา และมาปิดโครงการในวันที่ 4 ม.ย. ที่วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี 989 จ.สมุทรปราการ

นายสุภชัย วีระภุชงค์ กล่าวว่า การดำเนินการโครงการนี้ เพื่อรณรงค์ให้มวลมนุษยชาตินำหลักการสันติธรรมมาปฏิบัติให้เกิดสันติสุข ปฏิบัติตามมรรคาที่พระพุทธองค์มอบไว้ให้ โดยคณะธรรมยาตรา ใช้วิธีการถอดแนวทางปฏิบัติด้วยการศึกษาชีวิต และผลงาน ของพระอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขง พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อน้อมนำมาปฏิบัติตาม พร้อมเน้นการผนึกความสามัคคีในกลุ่มประเทศชาวพุทธในอาเซียนให้เข้มแข็ง เพื่อร่วมมือกันหนุนเสริมงานเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนาร่วมกันในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง เป้าหมายเพื่อความสงบสุขของประชาชนในประชาคมอาเซียน อันจะสอดคล้องกับนโยบาย 3 เสาหลักอาเซียน โดยมุ่งเน้นไปเสาที่ 3 คือการสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือและเสริมสร้างความสามัคคีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วัฒนธรรม ประเพณี ระหว่างชาวพุทธในกลุ่มลุ่มน้ำโขงและทุกประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความเป็นหนึ่งเดียว

...

สำหรับโครงการนี้ใช้เวลาเตรียมงานมากกว่า 1 ปี แต่จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ทำให้โครงการนี้สามารถเดินหน้าได้อย่างราบรื่น ซึ่งการรวมตัวของชาวพุทธ 5 ชาติได้เช่นนี้ เหมือนเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ที่แสดงให้เห็นว่าความศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นของจริงที่อยู่ในจิตใจของชาวพุทธเสมอมา.