ลักลอบขน “อสุจิ”...ข้ามชาติ!

ประเด็นร้อนแรงแข่งกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าวของประเทศไทย ที่สังคมให้ความสนใจหลังจากศุลกากรหนองคายจับกุมชายวัย 25 ปี ขณะกำลังลักลอบขนอสุจิแช่แข็งของเจ้าของชาวจีนและชาวเวียดนาม ข้ามพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ จ.หนองคาย

ที่สำคัญคือ ถือเป็นความท้าทาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือ “พ.ร.บ.อุ้มบุญ” และนำมาซึ่งคำถามที่ว่า ทำไมต้องขน “อสุจิ” ข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การเก็บ “อสุจิ” แช่แข็งเพื่อเอาไว้ใช้ในอนาคตไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากหรือเกินศักยภาพของวงการแพทย์ไทยจะทำได้

ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีหลังจากประเทศ ไทยมี “พ.ร.บ.อุ้มบุญ” หรือกฎหมายอุ้มบุญ การลักลอบขน “อสุจิ” ข้ามพรมแดนในครั้งนี้ถือเป็นคดีแรกที่ประเดิมการกระทำความผิดตาม “พ.ร.บ.อุ้มบุญ” มาตรา 41 ที่ระบุชัดว่า ห้ามไม่ให้

ผู้ใดซื้อ เสนอซื้อ ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิไข่ หรือตัวอ่อน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

...

สำหรับ การเก็บ “อสุจิ” แช่แข็ง จะมีด้วยกันหลายสาเหตุ เช่น ยังไม่สามารถทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ในขณะนั้น ต้องมีการให้คีโมหรือการฉายรังสีรักษา ต้องไปออกรบ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีกรณีอื่น เช่น การนำไปปฏิสนธิกับไข่ที่อาจเป็นของภรรยาหรือไข่บริจาค เพื่อใช้ในเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เพื่อการตั้งครรภ์แทน เป็นต้น แต่โดยปกติแล้วมักจะใช้กับคู่สมรส ซึ่งก่อนจะทำการเก็บอสุจิได้ต้องมีการเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อน เนื่องจากผู้ที่จะเก็บอสุจิได้ร่างกายต้องแข็งแรงสมบูรณ์ และไม่มีโรคติดต่อ

รศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ กรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ให้ความกระจ่างถึงกระบวนการเก็บอสุจิแช่แข็งว่า การเก็บอสุจิเพื่อแช่แข็ง มีวัตถุประสงค์คือ ต้องการนำอสุจิไปปฏิสนธิกับไข่ให้เกิดตัวเด็กต่อไปในอนาคต ช่วงเวลาในการเก็บอสุจิ ไม่มีความยุ่งยากมาก แต่ต้องมีการอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ทำตามกระบวนการและทำในห้องปฏิบัติการ หากเทียบกับการเก็บไข่หรือ การนำอสุจิและไข่ไปปฏิสนธิกันจนถึงแปดสัปดาห์ซึ่งเรียกว่าการเก็บตัวอ่อนนั้นง่ายกว่ากันมาก ทั้งนี้ การเก็บอสุจิแช่แข็งสามารถเก็บได้นานเป็น 10 ปี อย่างไรก็ตาม การเก็บอสุจิก็เพื่อต้องการใช้ในอนาคตเมื่ออยากมีบุตร ส่วนการตั้งท้องโดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่มีการปฏิสนธินอกร่างกาย ได้แก่ เด็กหลอดแก้ว (อิ๊กซี่) ซึ่งต้องทำในห้องปฏิบัติการ และ 2.กลุ่มที่ปฏิสนธิภายในร่างกาย ได้แก่ การฉีดเชื้อเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นไข่ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ง่าย ใช้การทำให้ไข่กับอสุจิได้มาเจอกัน ซึ่งในการเก็บอสุจิจะมีประกาศของแพทยสภาที่กำหนดชัดและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

“การเก็บอสุจิไม่ยุ่งยากแต่การที่เกิดการลักลอบขนอสุจิข้ามประเทศ เป็นเรื่องที่สังคมตั้งคำถามและมีข้อสงสัย เพราะหากไม่ได้เป็นกลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ เช่น ให้คีโม เป็นต้น ความจำเป็นก็น่าจะน้อย และหากต้องการแก้ปัญหาเรื่องการมีบุตรยากก็ควรทำให้จบกระบวนการในสถานที่ฝากอสุจิเลย แต่จะมีปัญหาที่หลายประเทศมีกฎหมายห้าม

นำออกนอกประเทศ เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ที่มีข้อถกเถียงในเชิงจริยธรรม ส่วนสิ่งที่กังวลคือ การนำไปปฏิสนธินอกร่างกาย ตามที่กฎหมายไม่อนุญาตซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมตั้งข้อสงสัย” รศ.นพ.กำธร ขยายถึงข้อสงสัยในเรื่องการขนอสุจิข้ามประเทศ

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการนำอสุจิออกนอกประเทศ ว่า ใน พ.ร.บ.อุ้มบุญมีการระบุชัดว่า ห้ามซื้อขายหรือนำออก ซึ่งอสุจิไข่ หรือตัวอ่อน ซึ่งตั้งแต่มี พ.ร.บ.อุ้มบุญ ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยพบการกระทำผิด พ.ร.บ.อุ้มบุญ ดังนั้น ความพยายามลักลอบขนอสุจิข้ามแดนในครั้งนี้ถือเป็นคดีแรกตั้งแต่มีกฎหมายอุ้มบุญ อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นทางกรมฯ ได้มีการรวบรวมหลักฐานทั้งหมดส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียบร้อยแล้ว โดยกระบวนการสืบสวนถึงเส้นทางของการขนอสุจิรวมถึงวัตถุประสงค์ของการขนนั้น คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

“ข้อดีของกฎหมายอุ้มบุญระบุชัดเจนว่า ต้องการคุ้มครองเด็ก เด็กเกิดมาแล้วรู้ว่าใครเป็นบิดามารดา ซึ่งก่อนหน้า ที่จะมีกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ อย่างไรก็ตามกรณีที่เกิดขึ้นจะมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโน-โลยีฯ พิจารณาเพื่อให้กฎหมายมีความเข้มข้นมากขึ้น ปิดช่องโหว่ของกฎหมาย และเป็นการล้อมคอกไม่ให้เกิดเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณขึ้นได้” นพ.ธงชัย ย้ำถึงความพยายามปิดช่องโหว่ของกฎหมาย

ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่า การจับกุมการลักลอบขนอสุจิข้ามพรมแดนไทย-ลาวในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จนสามารถสกัดขบวนการขนอสุจิข้ามชาติได้ ซึ่งนั่นเท่ากับช่วยล้อมคอกไม่ให้เกิดผลต่อเนื่องในการกระทำผิดจริยธรรมขึ้นได้

แต่สิ่งที่เราต้องฝากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคือ การร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อสืบให้ได้ถึงเส้นทางและสาเหตุของการลักลอบขนอสุจิข้ามชาติ เพราะนั่นอาจนำไปสู่กระบวนการต่อๆไป โดย เฉพาะการผสมอสุจิเข้ากับไข่ จนกลายเป็นตัวอ่อน และกลายเป็นเด็กในอนาคต จนทำให้มีเด็กที่เกิดมาโดยไม่ได้รับการคุ้มครอง อาจกลายเป็นเด็กกำพร้า ซึ่งยากที่จะเยียวยาและแก้ไขได้

เพราะเด็กทุกคนมีสิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ.2535 ที่จะได้มีชีวิตรอด ได้รับการพัฒนา ได้รับการปกป้องคุ้มครอง และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

และสุดท้ายสิ่งที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดตามมาจากจุดเริ่มต้นของการขน “อสุจิ” ข้ามชาติคือ การนำไปสู่การทำผิดจริยธรรมที่ลุกลามบานปลายถึงขั้นนำไปสู่ขบวนการ “ค้ามนุษย์” เลยทีเดียว.

ทีมข่าวสาธารณสุข