โค้งสุดท้าย ตรวจสอบเงื่อนไขลงทะเบียน "คุณสู้ เราช่วย" ช่วยลูกหนี้บ้าน รถ SMEs ลดค่างวด พักดอกเบี้ย ขยายเวลาถึงสิ้นเดือน เม.ย. นี้ โดยสามารถเข้าร่วมมาตรการกับเจ้าหนี้ได้มากกว่า 1 แห่ง
หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม ภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" โดยการช่วยเหลือจะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ มาตรการของผู้ให้บริการแต่ละแห่งมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องศึกษารายละเอียด คุณสมบัติ และเงื่อนไข ก่อนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ
โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" คืออะไร ช่วยเหลือลูกหนี้อย่างไร
โครงการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ โดยแบ่งเป็น 2 มาตรการ
1. จ่ายตรง คงทรัพย์
ช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็ก โดยการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี
- บ้าน / บ้านแลกเงิน ไม่เกิน 5 ล้านบาท
- เช่าซื้อรถยนต์ จำนำทะเบียน ไม่เกิน 8 แสนบาท
- เช่าซื้อจักรยานยนต์ จำนำทะเบียน ไม่เกิน 5 หมื่นบาท
- หนี้ธุรกิจ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาท
- หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล / บัตรเครดิต สามารถเอาไปรวมหนี้บ้าน/รถ ได้ (ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เจ้าหนี้รับได้ และไม่เกินวงเงินที่กำหนด
- เป็นหนี้ที่ทำสัญญาก่อน 1 ม.ค. 67
- สถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ต.ค. 67 ค้างจ่ายเกิน 30 วัน (นับจากวันครบกำหนดชำระ แต่ไม่เกิน 365 วัน) หรือ เคยปรับโครงสร้างหนี้หลัง 1 ม.ค. 65 (โดยก่อนปรับเคยค้างชำระเกิน 30 วัน นับจากวันครบกำหนด
...
ประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับ
- จ่ายค่างวดลดลง 3 ปี สภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น
- ภาระดอกเบี้ยลดลง (ดอกเบี้ยที่พักไว้ระหว่างมาตรการ เจ้าหนี้จะยกให้หากปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข)
- ภาระหนี้ลดลง ปิดจบหนี้เร็วขึ้น ค่างวดที่จ่ายระหว่างมาตรการจะไปตัดเงินต้นทั้งหมด
2. จ่าย ปิด จบ (หนี้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อบัญชี)
- เป็นหนี้บุคคลธรรมดา (หนี้ทุกประเภท) ไม่จำกัดเวลาที่ทำสัญญา
- สถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ต.ค. 67 ต้องเป็นหนี้เสีย หรือค้างจ่ายเกิน 90 วัน และยอดหนี้รวมไม่เกิน 5,000 บาท/บัญชี
เงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ
1. กู้เพิ่มไม่ได้ ลูกหนี้ต้องไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่ม ใน 12 เดือนแรกหลังเข้าร่วมมาตรการ ยกเว้น กรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เจ้าหนี้สามารถให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม
2. จะถูกรายงานข้อมูลใน NCB ว่าเข้าร่วมมาตรการ
3. หากไม่สามารถชำระค่างวดขั้นต่ำได้ตามที่กำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ได้ เช่น ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้
4. หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่
ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
สามารถตรวจสอบเจ้าหนี้/ผู้ประกอบธุรกิจ ที่เข้าร่วมโครงการได้ ที่นี่
วิธีลงทะเบียนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย”
1. ตรวจสอบคุณสมบัติและเงื่อนไขทางเว็บไซต์ www.bot.or.th/khunsoo
2. สมัครใช้งานด้วยระบบอีเมล หรือยืนยันตัวตนโดยสแกน QR Code บนแอปพลิเคชัน ThaiID
3. กรอกข้อมูลส่วนตัวในการลงทะเบียน
4. ส่งคำขอแก้หนี้ โดยเลือกผู้ให้บริการและผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วม
5. ยืนยันการลงทะเบียน พร้อมเก็บหมายเลขคำร้องเพื่อติดตามสถานะ
ระยะเวลาการลงทะเบียน
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 746,912 บัญชีจากลูกหนี้ 642,030 ราย และยังพบว่ามีลูกหนี้ทยอยสมัครเข้าร่วมโครงการฯนี้ อย่างต่อเนื่อง ธปท. จึงขยายระยะเวลาการสมัครเข้าโครงการฯ จากเดิมลงทะเบียนได้ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568
วงเงินรวมของสินเชื่อบ้าน/เช่าซื้อรถยนต์ นับรวมสินเชื่อ top up ที่มีหลักประกันเดียวกันหรือไม่
ให้นับรวมวงเงินสินเชื่อ Top Up ด้วย แต่ไม่รวมวงเงินประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือ MRTA (Mortgage Reducing Term Assurance) เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ถูกตัดสิทธิ์เพียงเพราะมีการทำประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยง
ทั้งนี้ เมื่อเข้าร่วมมาตรการแล้ว ให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้โดยรวม MRTA ด้วย เนื่องจากอยู่บนหลักประกันเดียวกัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรการที่ต้องการช่วยลูกหนี้ให้รักษาทรัพย์ไว้ได้
ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างกระบวนการทางศาลสามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้หรือไม่
สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างกระบวนการทางศาลนั้น สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ โดยสถาบันการเงินจะชะลอการฟ้องออกไปก่อน (แต่ไม่ได้ถอนฟ้อง) ในกรณีที่ลูกหนี้โดนยึดทรัพย์แล้ว แต่ทรัพย์ยังไม่ได้ถูกขายทอดตลาด/การขายทอดตลาดยังไม่สำเร็จ ลูกหนี้ที่เข้าข่ายตามคุณสมบัติของมาตรการสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ แต่เมื่อเข้าร่วมมาตรการแล้วและไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการได้ สถาบันการเงินจะเดินเรื่องในกระบวนการทางศาลต่อไป
ลูกหนี้มีสินเชื่อที่เป็นสัญญาแบบกู้เดี่ยวและกู้ร่วม สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ ได้ทั้ง 2 สัญญาหรือไม่
หากสินเชื่อทั้งแบบกู้เดี่ยวและกู้ร่วมของลูกหนี้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ ลูกหนี้สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทั้ง 2 สัญญา
ลูกหนี้สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้กับเจ้าหนี้ได้มากกว่า 1 แห่งหรือไม่
นอกจากนี้ ลูกหนี้สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้กับเจ้าหนี้ได้มากกว่า 1 แห่ง หากลูกหนี้มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่เป็นไปตามเงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ