หมอเตือนโรคลมแดด "ฮีทสโตรก" ภัยเงียบอันตราย หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะช็อก พร้อมแนะแนวทางป้องกัน

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประเทศไทยมักเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะภาวะโรคลมแดด (Heat Stroke) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกินไป ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายล้มเหลว หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะช็อก (Shock) หรืออวัยวะล้มเหลว (Organ Failure) ได้

ทางด้าน นพ.กิตติภูมิฐ์ กวินโชติไพศาล แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (Emergency Room) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายความรู้เกี่ยวกับสาเหตุ อาการ ปัจจัยเสี่ยง และแนวทางป้องกันโรคลมแดดช่วงสงกรานต์ พร้อมวิธีปฐมพยาบาลผู้ที่มีอาการโรคลมแดด เพื่อดูแลตนเองและคนรอบข้างได้อย่างทันท่วงที

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคลมแดด

โรคลมแดดเกิดจากการได้รับความร้อนเป็นเวลานาน และร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ ได้แก่

  • อุณหภูมิและความชื้นสูง อากาศร้อนจัดและความชื้นสูงทำให้เหงื่อระเหยได้ยาก ส่งผลให้ร่างกายสะสมความร้อน
  • การสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน การเล่นน้ำกลางแดด การเดินทางกลางแจ้ง หรือการออกกำลังกายหนักในช่วงกลางวัน
  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างเหมาะสม
  • การดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน มีผลทำให้ร่างกายขับน้ำออกมากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ
  • กลุ่มเสี่ยงพิเศษ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย

...

อาการของโรคลมแดด

ระยะเริ่มต้น : เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ผิวหนังร้อน แดง แห้ง หรือมีเหงื่อออกน้อยผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว

ระยะรุนแรง : สับสน มึนงง พูดไม่รู้เรื่อง อาการชัก หรือหมดสติ อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40°C ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะระบบอวัยวะล้มเหลว (Multiple Organ Dysfunction Syndrome, MODS) ได้

แนวทางป้องกันโรคลมแดดช่วงสงกรานต์

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ: ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม: เลือกเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีเข้มที่ดูดซับความร้อน
  • เลี่ยงกิจกรรมกลางแดดช่วงเวลา 10.00 - 16.00 น.: หากจำเป็นต้องออกกลางแจ้งควรใช้หมวกหรือร่มเพื่อช่วยลดการรับความร้อน
  • ไม่ออกกำลังกายหนักในที่ร้อนจัด: หากต้องออกกำลังกายควรเลือกช่วงเช้าหรือเย็นแทน
  • เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงพิเศษ: เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน

วิธีปฐมพยาบาลผู้ที่มีอาการโรคลมแดด หากพบผู้ที่มีอาการของโรคลมแดด ควรรีบให้การช่วยเหลือดังนี้

1. นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีความร้อน หาสถานที่ร่มหรือมีอากาศถ่ายเทสะดวก

2. ลดอุณหภูมิร่างกาย ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว หรือใช้พัดลมช่วยระบายความร้อน

3. ให้จิบน้ำทีละน้อย หากยังมีสติ ให้ดื่มน้ำเปล่าช้าๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

4. ห้ามใช้วิธีลดอุณหภูมิแบบฉับพลัน เช่น การใช้น้ำเย็นจัดราดตัว เพราะอาจทำให้หลอดเลือดหดตัวและทำให้อาการแย่ลง

5. หากหมดสติ ให้รีบโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (โทร.1669)

อย่างไรก็ตาม โรคลมแดดเป็นภาวะที่สามารถป้องกันได้ หากมีการเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีความเสี่ยงสูง การตระหนักถึงอันตรายของอากาศร้อน และการดูแลสุขภาพให้เหมาะสม จะช่วยให้สามารถสนุกสนานกับเทศกาลได้อย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อภาวะฉุกเฉิน และรักษาสุขภาพที่ดีตลอดฤดูร้อน.