ความขัดแย้งในวงการสีกากียังเดือดไม่แผ่ว เมื่อ “ทนายคนดัง” ประกาศพลีชีพเปิดหน้าแฉเส้นทางการเงินหมุนเวียนกว่าร้อยล้านต่อเดือน “พัวพันส่วย” ที่มี ด.ต.ไปจนถึง พล.ต.อ.เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง แบ่งทีมทำงาน 5 ภาค ตั้งแต่ทีมภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก จนสุดภาคใต้

กระทบภาพลักษณ์ “สตช.” ในสายตาประชาชนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ “นายกรัฐมนตรี” มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ และแต่งตั้ง คกก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับความขัดแย้งในคดีของบุคลากรใน สตช.

วิกฤติความขัดแย้งนี้มีสาเหตุอะไรนั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต บอกว่า ถ้าดูคำสั่งของนายกฯค่อนข้างระบุชัดเจนกรณีปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นมีมาก่อน “การตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่” จนบานปลายแบ่งฝักแบ่งฝ่ายใน สตช.

...

ย้อนสังเกตจาก “คดีเป้รักผู้การเท่าไหร่” มาถึงกรณีส่วยรถบรรทุก “กำนันนกใน จ.นครปฐม” ที่มีการแถลงกล่าวหาตอบโต้กันไปมา “พัวพันเว็บพนันออนไลน์” อันเป็นช่วงจังหวะในการคัดเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ จนกระทบภาพลักษณ์องค์กรรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินประชาชนมาต่อเนื่อง

คราวนั้นถ้าจำได้ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” เป็นแคนดิเดตคนสำคัญ แต่สุดท้าย “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์” ก็ถูกเสนอชื่อขึ้นเป็น ผบ.ตร. สะท้อนให้เห็นต้นตอปัญหามาจาก “ระบบ-โครงสร้าง” เพราะการบริหารงานองค์กรตำรวจไทยเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจจาก “สตช.” ทำให้หลายคนต้องการขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 เพื่อเติบโตในชีวิตข้าราชการ

อันจะนำมาซึ่ง “อำนาจและผลประโยชน์มากมาย” แม้แต่ฝ่ายการเมืองก็ต้องการให้องค์กรตำรวจอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลตาม “พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565” ที่ถูกแก้ไขในยุครัฐบาลทหารกำหนดให้ “นายกฯ” เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง “มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย” โดยเฉพาะการเสนอชื่อว่าที่ ผบ.ตร.

ด้วยการคัดเลือกจากรอง ผบ.ตร. หรือเป็นจเรตำรวจ “ยศ พล.ต.อ.” โดยคำนึงถึงอาวุโส และความรู้ ความสามารถประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรืองานป้องกันปราบปรามเสนอ ก.ตร.พิจารณาเห็นชอบ

เช่นนี้ก็ทำให้เห็นปัญหาจาก “การเมือง” มีอำนาจในการเสนอชื่อ ผบ.ตร. แล้วครั้งนี้ “นายกฯ” ก็หยิบยกชื่อรอง ผบ.ตร.ลำดับที่สี่เสนอแต่งตั้งขึ้นเป็น “ผบ.ตร.คนปัจจุบัน” โดยมิได้เรียงลำดับตามอาวุโส กลายเป็นการมองข้าม “รอง ผบ.ตร.ลำดับที่ 1” สะท้อนจุดช่องโหว่ และข้อบกพร่อง ในโครงสร้างตำรวจให้เห็นอย่างชัดเจน

แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ “รัฐบาลชุดก่อนอยู่มา 9 ปี” กลับไม่สามารถ แก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจฯให้แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.ฉบับเดิม “โครงสร้างยังสั่งการจากบนลงล่าง” กลายเป็นช่องโหว่ของปัญหาอยู่ขณะนี้ สาเหตุเพราะ รัฐบาลทหารไม่เข้าใจการทำงานของตำรวจสมัยใหม่ ดังนั้นการปฏิรูปตำรวจ “รัฐบาล” ต้องจริงใจในการแก้กฎหมาย

ควบคู่การเข้าใจแนวคิด “ตำรวจสมัยใหม่” ด้วยยึดหลัก 3 P คือ “Political View” เจตจำนงทางการเมืองต้องแน่วแน่ “Police” ตัวตำรวจต้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กร “Public People” ประชาชนถ้าตำรวจเป็นอิสระ “ปราศจากการเมืองแทรกแซง” สุดท้ายย่อมส่งผลดี ต่อการแก้ปัญหาอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตอกย้ำเมื่อ “ระบบโครงสร้างไม่ได้รับการแก้ไข” แถม พ.ร.บ.ตำรวจฯยังเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจสามารถในการเสนอชื่อ “ผบ.ตร.” โดยไม่ถูกกำกับตรวจสอบการใช้ดุลพินิจให้ชัดเจน กลายเป็นเสมือนเกมที่ถูกกำหนดไว้ในตัวกฎหมายฉบับนี้ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตามมาเหมือนดังกรณีนี้ และจะยังคงเกิดต่อไปอีกเรื่อยๆ

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล

ดังนั้น หาก “การคัดเลือก ผบ.ตร.” มีหลักเกณฑ์การประเมินตามประสบการณ์ที่ชัดเจน เช่น นายตำรวจผ่านงานสืบสวนมากี่ % และงานป้องกันปราบปรามกี่ % ก็จะทำให้การสรรหา ผบ.ตร.คนใหม่ มีความโปร่งใสสามารถชี้แจงสังคมได้ แล้ว “ผู้เสนอชื่อ” มักจะมีความระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจตามมาด้วย

จริงๆแล้ว “การปฏิรูปตำรวจมิได้หยุดแค่ออก พ.ร.บ.ตำรวจฯ” เพราะถ้าเปรียบเทียบต่างประเทศมักจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างตำรวจในหลายมิติ แต่เน้นหลักแนวคิดการทำงานในระดับชุมชนที่เรียกว่า “กิจการงานตำรวจเป็นความเห็นชอบของประชาชน” ผลักดันให้ตำรวจเข้าไปแก้ปัญหาให้ประชาชนในชุมชนเป็นหลักสำคัญ

ทว่าสำหรับตำรวจไทย “กิจกรรมงานตำรวจต้องเห็นชอบของผู้บังคับบัญชา หรือนักการเมือง” แถมยังเป็นระบบคล้ายทหารมีลักษณะ การบังคับบัญชา มีชั้นยศ แล้วยังผูกเชื่อมโยงกับการเมือง “รวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง” สุดท้ายมักนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งแย่งชิงการเป็น ผบ.ตร.ตามมาอยู่เสมอ

เรื่องนี้ประเทศพัฒนามองว่า “องค์กรตำรวจลักษณะนั้น” ส่งผลให้ตำรวจห่างจากประชาชนในด้านการรับฟังปัญหา การแก้ไขปัญหา การจัดการปัญหาอาชญากรรมต่างๆ นำมาซึ่งผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้วตามเท่าที่เคยพูดคุยกับ “เพื่อนตำรวจ” ทุกคนต่างรู้สึกอึดอัดกับระบบ และโครงสร้างที่ต้องอยู่ภายใต้การเมืองด้วยซ้ำ

แต่ด้วย “ฝ่ายการเมืองต้องการควบคุมตำรวจ” เพื่อเป็นเครื่องใช้ประโยชน์ อย่างเช่น บุคคลใดเห็นต่างจากรัฐบาลอาจจะสั่งให้ ผบ.ตร.เข้าไปดำเนินการได้ง่าย เหตุนี้ตามหลักสากลมักจะให้ตำรวจแยกออกจากการเมือง สังเกตประเทศพัฒนาแล้วจะไม่ให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต้องอยู่ภายใต้การสั่งการของนายกฯโดยตรง

ไม่ว่าจะเป็น “อังกฤษ” ระบบโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กรที่เป็นอิสระจากการเมืองกระจายอำนาจไปใน 43 หน่วย “สหรัฐฯ และเยอรมนี” เป็นแบบกระจายอำนาจรับผิดชอบบริหารจัดการงานในแต่ละรัฐ

ถัดมาสำหรับ “การแก้ปัญหาความขัดแย้งใน สตช.” ขอเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจฯฉบับนี้ใหม่ เพื่อกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้ตำรวจ ใกล้ชิดประชาชน อย่างเช่นกรุงเทพฯ “ผู้ว่าฯ” ควรมีอำนาจสามารถคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจนครบาลตามการเสนอชื่อของ สตช. และกำหนดตัวชี้วัดการปราบปรามอาชญากรรมให้เป็นรูปธรรม

ปัญหามีอยู่ว่านับแต่ “นายกฯ” รับตำแหน่งมากลับไม่เคยพูดถึงแนวทางการปฏิรูปตำรวจด้วยซ้ำ แล้วเรื่องนี้ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า “เศรษฐกิจ” เพราะเป็นความปลอดภัยสาธารณะต่อการป้องกันอาชญากรรม

ฉะนั้นคงต้องฝากความหวังกับ “ฝ่ายค้าน” ในการหยิบยกปัญหาความขัดแย้งใน สตช.พิจารณาตั้งกระทู้ถามในสภาฯ เพื่อให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง “ยกระดับตำรวจไทย” ให้สามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างมืออาชีพ

สุดท้ายฝากไว้ว่า “ข้อมูลเส้นทางการเงินพัวพันกับพนันออนไลน์” ที่แต่ละฝ่ายออกมาเปิดโปงผ่านสื่อมวลชนทั้งหมด “ควรต้องได้รับการตรวจสอบ” ถ้าหากมีมูลเหตุถึงบุคคลใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมาทุกประการไม่มียกเว้น

ด้วยการตั้งกรรมการจากบุคคลภายนอก เช่น ผู้แทนจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้แทนจาก ปปง. ป.ป.ช. ดีเอสไอ นักกฎหมายอื่น และภาคประชาชน เข้ามาร่วมตรวจสอบคู่ขนานเพื่อให้ได้หลักฐานเป็นที่ปรากฏให้ชัดเจนยิ่งขึ้นแล้วรายงานตรงต่อ “นายกฯ” พิจารณาสั่งการต่อไป

ลักษณะเดียวกับ “คดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง” ที่ตั้ง ศ.พิเศษวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ สามารถดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องเป็นข้าราชการระดับสูงหลายนาย

เรื่องนี้หากคลี่คลายปัญหาอย่างตรงไปตรงก็เชื่อว่า “ประชาชน” จะมีความเชื่อมั่นกับรัฐบาลมากขึ้น แต่ถ้าผลการสอบสรุปว่า “ไม่มีอะไรในกอไผ่” สิ่งนี้จะกระทบต่อคะแนนความนิยมตามมาได้เช่นกัน

ย้ำว่าเรามิได้สนใจว่า “ใครจะเป็น ผบ.ตร.” แต่สิ่งที่เราสนใจคือ ตำรวจต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนแท้จริง เพื่อปัญหาอาชญากรรมในสังคมจะลดลง และบ้านเมืองก็จะสงบสุขเรียบร้อย...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม