ประชาชนได้แต่ลุ้นกันว่า ศึกสีกากี จะจบลงอย่างไร เพราะเกินเยียวยาไปแล้ว ความรู้สึกของชาวบ้าน ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระหว่าง บิ๊กโจ๊ก กับ บิ๊กต่อ ใครจะชนะหรือแพ้ แต่กำลังเกิดความรู้สึกว่า องค์กรยุติธรรมที่อ้างว่า เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน กำลังจะพึ่งไม่ได้อีกต่อไป ต้องไปพึ่งสายไหมต้องรอด กัน จอมพลัง หรือมูลนิธิปวีณา จะเกิดความมั่นใจกว่า เท่ากับว่า เกิดสุญญากาศการบริหาร หรือที่เรียกว่า รัฐล้มเหลว จากวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรในกระบวนการยุติธรรม

ทุกองค์กรมีทั้งคนดีคนเลว ไม่มีองค์กรไหนที่มีแต่คนดีหรือคนเลว แม้แต่ในองค์กรสื่อสารมวลชนเองก็มีคนเลวและคนดี ปนกันไป นั่นหมายถึงบุคลากรในองค์กรทั่วไป

ในระยะหลังจะมีการออกมาเปิดโปงและเปิดเผยหลักฐาน การกระทำความผิดของผู้บริหารภาครัฐ และองค์กรของรัฐกันโจ๋งครึ่ม เอกสาร เส้นทาง ข้อมูล ล้วงลึก ชนิดเห็นภาพไปถึง ลำไส้ ยกตัวอย่างกรณีที่ ทนายตั้ม ออกมาพลีชีพเพื่อชาติ (พูดเอง เออเอง) ระบุมีการรับส่วย รีดไถกันถึง 18 สายสาขาอาชีพ ที่เป็นธุรกิจสีเทาไปจนถึงธุรกิจสีดำ เพื่อส่งมอบให้ผู้บังคับบัญชา หรือที่ รองเต่า ออกมาแฉ ขบวนการพนันออนไลน์โยงใยเส้นทางผลประโยชน์ไปถึงใคร อย่างไรบ้าง จากจำนวนเว็บพนันกว่า 200 เว็บ ไม่ใช่แค่ข่าวโคมลอยแต่มีพยานหลักฐาน

หมายความว่า ทั้งสองข้อกล่าวหาที่ถูกเอามาเปิดโปง จะมีบุคลากรของรัฐ ที่ไปเกี่ยวข้องจำนวนมากมายมหาศาลขนาดไหนแล้วถ้าเส้นทางเงินไปสู่การบริจาคตามวัดวาอาราม จะบาปกรรมขนาดไหน

ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้ไม่สามารถแยกแยะการกระทำระหว่างผู้รักษากฎหมายกับผู้กระทำผิดกฎหมายได้ชัดเจน นั่นหมายถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมที่นำไปสู่ความล้มเหลวของระบบการบริหารราชการแผ่นดิน

วันหนึ่ง นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะประธาน ก.ตร. ไปประชุม ก.ตร. ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในอีกฐานะคือผู้นำประเทศ ไม่ได้หยิบยก เรื่องส่วยที่กระทบกับประชาชน และการบริหารการปกครองประเทศ อันเกิดจากเสาหลักขององค์กรมาหารือ เพียงแต่ถามถึงสถานการณ์ทั่วไป และออกมาพูดสั้นๆว่า ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

...

ในขณะที่อีกวันหนึ่งไปประชุม โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มองไปรอบที่ประชุมแล้วถามว่า ผู้ว่าการแบงก์ชาติไปไหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐานใดๆ แต่จัดลำดับความสำคัญของปัญหา อย่างไรมากกว่า

บ้านเราเคยมีวิกฤติตุลาการมาแล้ว ครั้งนั้นทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความเสื่อมถอย เราเคยมีศึกสีกากีมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ไม่เหมือนครั้งนี้ ไม่ใช่การช่วงชิงอำนาจใน สตช. หรือ เป็นการล้างแค้นของแก๊งก๊วนใดๆ

แต่เป็น วิกฤติสีกากี ที่เอาระบบในกระบวนการบริหารปกครองประเทศเป็นเดิมพัน เรื่องของบิ๊กต่อกับบิ๊กโจ๊ก ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องการบริหารการปกครองประเทศ

ถ้าผู้นำไม่กล้าตัดสินใจ กลไกบริหารประเทศก็พัง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม