"สวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี" แจงกรณีสัตว์ป่าตาย มีสาเหตุและโรคชัดเจน ยืนยันเดือน ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา มียอดตายไม่ถึง 13 ตัว

จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการแชร์เรื่องราวของสวนสัตว์แห่งหนึ่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ระบุว่ามีสัตว์ตายปริศนา 13 ตัว ภายในเดือนเดียว จนสร้างความตกใจให้กับผู้ที่ทราบข่าว และเกิดการตั้งคำถามถึงมาตรการในการดูแลสัตว์ป่าของสวนสัตว์แห่งนี้

ล่าสุดวันที่ 15 มกราคม 2567 นายกฤษดา ลาพิมล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนา ชี้แจงประเด็นที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า สวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2548 มีการนำสัตว์เพื่อเข้ามาแสดง ซึ่งสัตว์ที่นำมาแสดงในช่วงแรกๆ ปัจจุบันสัตว์กลุ่มนี้อยู่ในวัยชรา และอยู่ภายใต้การดูแลเป็นอย่างดี จนสิ้นอายุขัยของสัตว์แต่ละประเภท ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกสวนสัตว์ต้องเจอ และไม่ใช่การตายปริศนาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สำนักงานมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุการตายของสัตว์เบื้องต้น เมื่อทราบถึงสาเหตุ ก็ได้รายงานให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครทราบ และการดำเนินงานของสำนักงานฯ ได้มีมาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ตามมาตรการ WAZA (World Association of Zoo and Aquariums) และ SEAZA (South East Asian Zoo Association)

...

จากการตรวจสอบการตายของสัตว์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีสัตว์ตายเพียง 4 ตัว ได้แก่ หมาจิ้งจอก ตายด้วยสาเหตุเนื้องอกตับอ่อน, ค่างห้าสี ตับอักเสบ, หมาป่าฟีนิกซ์ ตับอักเสบ และแมวดาว สิ้นอายุขัย ไม่ใช่ 13 ตัว ตามที่เป็นข่าว

โดยสาเหตุที่ทำให้สัตว์ป่าเป็นโรคเป็นเรื่องปกติ และเกิดขึ้นได้ในสัตว์ที่อายุมาก ไม่ต่างจากมนุษย์ และส่วนหนึ่งอาจจะมาจากสัตว์ภายนอก เช่น นกพิราบที่บินเข้ามา เป็นพาหะนำโรคมาแพร่ได้ สำนักงานมีกระบวนการในการชันสูตรซาก มีการผ่าชันสูตรทุกตัวและเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ

และส่งตรวจอวัยวะต่อไปยังห้องปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมปศุสัตว์ และสำนักงาน จะรายงานสัตว์เกิดสัตว์ตายต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประจำทุกเดือน ยกเว้นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทเสือโคร่ง ที่ต้องรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ส่วนการตายของลีเมอร์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 พบสาเหตุจากถูกงูเหลือมกิน เนื่องจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ในช่วงฤดูฝนมักมีสัตว์เลื้อยคลาน ประเภทงูจำนวนมาก และมีบางตัวที่เล็ดลอดเข้าไปในส่วนจัดแสดงลีเมอร์ได้ โดยเรื่องนี้ได้เร่งดำเนินการจัดทำมาตรการในการป้องกัน และปัจจุบันไม่พบปัญหานี้แล้ว

ขณะนี้เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีสัตว์ประมาณ 130 ชนิด ประมาณ 1,054 กว่าตัว มีทีมเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีสัตว์ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษา จำนวน 10 ตัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพเชียงใหม่ เลือกทำการวิจัยทางด้านการรีดน้ำเชื้อ การตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ การทำน้ำเชื้อ และการผสมเทียม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้ทั่วโลก มีความปลอดภัยสูงต่อสัตว์ และสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้คงอยู่อย่างสมดุลในธรรมชาติ

นำไปสู่การดำเนินโครงการผสมเทียม (Al-Artificial Insemination) สัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ที่เป็นโครงการต่อเนื่องในการวิจัย และอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าหายากของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เพื่อช่วยอนุรักษ์พันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ต่อไป

นอกจากนี้ นายกฤษดา ยังกล่าวว่า ประเด็นที่เกิดขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการดิสเครดิต ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านการบริหารสำนักงานพัฒนาพิงคนครแต่อย่างใด ขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา อีกทั้งตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งทางสำนักงานก็ยินดีที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นองค์กรที่โปร่งใส และบริหารงานภายใต้ธรรมาภิบาล.