สวทช. ร่วมหารือ สถาบันสิงคโปร์ (SUTD) พัฒนาทักษะ "สะเต็มศึกษา" เพื่อส่งเสริมทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็ก และเยาวชนไทย
มีรายงานว่า ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้กล่าวถึงผลการสอบ PISA วัดความรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอ่านวิเคราะห์ว่า เด็กทั่วโลก 81 ประเทศ ประเทศไทยได้ที่ 58
โดยด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ต่ำสุดรอบ 20 ปี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีพันธกิจหนึ่งในการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์
ดังนั้นการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และกิจกรรม เพิ่มพูนประสบการณ์ให้เด็กไทยได้เชื่อมโยงปรากฏการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันและโลก และมีสมรรถนะสำคัญต่างๆ เช่น สมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์ สมรรถนะด้านเทคโนโลยี รู้จักวิเคราะห์ และมีกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

การมาประชุมหารือ และศึกษาแนวทางบริหารจัดการ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบสิงคโปร์ ทำให้เห็นมุมมองการพัฒนาเยาวชนที่สิงคโปร์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้คะแนนสอบสูงสุดในทุกทักษะ เพื่อนำไปพัฒนากิจกรรมเพิ่มพูนประสบการณ์
...
ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ภายใต้การดูแลของ สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ฝึกทักษะและพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน ผู้มีความสนใจ และมีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สถาบันเทคโนโลยีและการออกแบบสิงคโปร์ เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของสิงคโปร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ ก่อตั้งในปี พ.ศ.2553 ขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในยุคดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกปัจจุบัน
โดยมีหลักสูตรที่ผสานรวมความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ การออกแบบ สถาปัตยกรรม และการจัดการเข้าด้วยกันอย่างลงตัว สถาบันมุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถแก้ไขปัญหาได้หลากหลายวิธี และมีความเข้าใจในเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง
เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจในอนาคต เหมาะสำหรับนักศึกษาที่สนใจในการเรียนรู้ และทำงานในด้านเทคโนโลยีและการออกแบบในระดับสูง โดย Fabrication Lab ของสถาบันเทคโนโลยีและการออกแบบสิงคโปร์ (SUTD) เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนการเรียนรู้ และการวิจัยในด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ โดยนักศึกษาและคณาจารย์สามารถทำการทดลอง สร้างสรรค์ และทดสอบโครงการต่างๆ ได้อย่างเต็มที่
ด้าน ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การที่ได้ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี และการออกแบบสิงคโปร์ จึงเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในการพัฒนา และส่งเสริมเยาวชนผ่านประสบการณ์จริง ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร มีโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรมหรือ Fabrication Lab เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย
ให้ครูและนักเรียนได้ฝึกฝนทางเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และการออกแบบ สนับสนุนการเรียนรู้ และการวิจัยในด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ ทั้งนี้บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร มีความพร้อมด้านเครื่องมือ เพื่อให้เยาวชนสามารถเปลี่ยนจินตนาการให้เป็นต้นแบบได้
โดยมีทั้งเครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องตัดด้วยเลเซอร์ และพื้นที่สำหรับการทำงานด้านการประดิษฐ์ และเวิร์กช็อปโดยมีวิศวกรบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรให้คำปรึกษาแนะนำ

ขระที่ นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ กล่าวเสริมว่า โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะสะเต็ม และความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย และพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
สร้างชิ้นงานโดยการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรม และเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ การดำเนินงานมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมโครงการ 150 โรงเรียน และมีมหาวิทยาลัยทำหน้าที่มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง จำนวน 10 มหาวิทยาลัย
ผลจากการดำเนินงาน มีกิจกรรมส่งเสริมทักษะสะเต็มที่จัดโดยบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. และมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง รวมทั้งสิ้น 147 ครั้ง มีนักเรียนได้รับประโยชน์ ผ่านการเรียนรู้ และการลงมือปฏิบัติในห้อง FabLab 27,721 คน ครูได้รับการพัฒนา 2,179 คน
มีผลงานนวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์เกิดขึ้นจากนักเรียนในโรงเรียนที่ร่วมโครงการจำนวนกว่า 532 ผลงาน และส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีระดับชาติ และนานาชาติ 279 ผลงาน ตัวอย่างผลงานสิ่งประดิษฐ์จาก FabLab ที่ได้ใช้ได้จริง ได้แก่ เครื่องอบสมุนไพร โดยวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร โรงเรือนเอื้องแซะ
โดยโรงเรียนแม่สะเรียง "บริพัตรศึกษา" หุ่นยนต์ปลูกและดูแลพืชอัตโนมัติ ควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน โดยโรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบบการแจ้งเตือนการตรวจจับการลอกคราบปูโดยอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชัน จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล
การติดตามบาตรพระโดยใช้ GPS และเครื่องแยกขยะโดยใช้ AI โดยโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน เครื่องตรวจจับฝุ่น และรถเข็นอัจฉริยะสำหรับคนพิการ โดยโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี เครื่องสอนปั๊มหัวใจ โดยโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา หมวกนิรภัยอัจฉริยะ สำหรับแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม อุปกรณ์ช่วยต่อลมหายใจฉุกเฉินในรถยนต์ โดยโรงเรียนวิสุทธรังสี เป็นต้น.