นักวิชาการ วิเคราะห์การปรับเงินเดือนข้าราชการไทย ขึ้นเท่าไรถึงพอดี แนะควรปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยก่อน เผยค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทำให้คนดำรงชีพได้ แต่ยังไม่ใช่ค่าแรงที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
วันที่ 6 พ.ย. 2566 ใน "NewsRoom" รายการทอล์กคุยข่าวใหญ่ ทางไทยรัฐออนไลน์ ดำเนินรายการโดย 'กาย' พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ พูดคุยกันในประเด็น "เงินเดือนขั้นต่ำ และเงินเดือนข้าราชการไทย ขึ้นเท่าไรถึงพอดี?"
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในส่วนของเงินเดือนข้าราชการ คิดว่าควรจะปรับขึ้นเพราะไม่ได้ปรับมา 9 ปี โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่ข้าราชการระดับกลางและชั้นผู้ใหญ่ ยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับตอนนี้ ปัจจุบันหากจบปริญญาตรีจะได้เงินเดือน 15,000 บาท และปรับลดลงไปตามวุฒิการศึกษา
ตนมองว่าการปรับเงินเดือนข้าราชการเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวพันกับงบประมาณแผ่นดินที่ต้องผูกพันเป็นงบประจำไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน การพิจารณาจึงต้องมีมาตรการอื่นเกี่ยวข้องไปด้วย และทำเป็นระยะ โดยระยะแรกอาจจะต้องปรับให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยก่อน เนื่องจากข้าราชการจำนวนหนึ่งเงินเดือนอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ยังมีพนักงานราชการที่เป็นลูกจ้างของระบบราชการ ซึ่งไม่มีสวัสดิการเท่าไร หากจะปรับก็มีเหตุผลที่ต้องปรับ และงบประมาณก็น่าจะพอจัดสรรได้
...
ส่วนข้าราชการระดับกลาง หรือผู้บริหารระดับสูง จะต้องเป็นระยะที่ 2 การปรับระบบทั้งหมด ควรปรับโครงสร้างราชการไปพร้อมกัน เช่น ถ้าเราปรับเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องลดขนาดของหน่วยราชการให้เล็กลงและมีประสิทธิภาพ จึงจะสามารถจ่ายค่าตอบแทนที่สูงขึ้น รวมทั้งอาจจะทำให้การทุจริตลดลงได้
การไม่ปรับให้ข้าราชการระดับสูงทันที ในระดับอธิบดี ระดับปลัดกระทรวง เงินเดือน 8-9 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าน้อยหากเทียบกับเอกชน แต่ในส่วนนี้จะได้รับค่าตอบแทนอย่างอื่น เช่น เป็นกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ จะได้เบี้ยประชุม เมื่อรวมแล้วก็จะได้ค่าตอบแทนสมฐานะ
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบประมาณปี 2572 ซึ่งจะมีคนที่อายุมากกว่า 65 ปี ประมาณ 1 ใน 5 ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนเงินชราภาพค่อนข้างสูง ในส่วนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการยังสามารถจ่ายได้อยู่ แต่จะจ่ายได้ถึงปีไหนนั้น ไม่แน่ใจ ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่
ขณะที่ระบบประกันสังคม กองทุนชราภาพจะเริ่มมีสถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงอย่างชัดเจนในปี 2597 ซึ่งอีกหลายปี หรือประมาณ 30 ปี แต่ก็ต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งตอนนี้มีการแก้ปัญด้วยการขยายอายุการรับบำนาญ จากเดิม 55 ปี ขยายเป็น 56 และตั้งเป้าไว้ที่ 60 ปี เช่นเดียวกับในส่วนของข้าราชการก็ต้องมีการยืดอายุการเกษียณ จะทำให้ระยะเวลาในการรับบำนาญยืดออกไปด้วย
สัดส่วน ข้าราชการไทยเมื่อเทียบกับภาระงาน เหมาะสมหรือไม่
ทั้งนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ มองว่าไม่ค่อยเหมาะสม โดยเฉพาะข้าราชการกองทัพ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนายพลมากที่สุดในโลก ส่วนของข้าราชการในหลายกระทรวง ถ้าเทียบกับญี่ปุ่นจะต่างกันมาก ประเทศไทยมีข้าราชการเยอะมาก จึงทำให้เกิดประเด็นที่ต้องปรับโครงสร้างก่อนจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนว่าแบบใดเหมาะสมกับประเทศ
และปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือหน่วยงานต่างใช้ดิจิทัลมากขึ้น รัฐบาลเองก็ควรเป็น รัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะลดการใช้คนลง ขณะที่บางส่วนก็ยังขาดคน เช่น ครูคณิตศาสตร์ ครูฟิสิกส์ ครูที่สอนการลงทุน ครูวิทยาศาสตร์ มีน้อย แต่ครูภาษาไทย ครูพละ มีจำนวนมาก
ส่วนการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เราควรจะจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการลงทุนต่างๆ ในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะคนที่เรียนต้องมีความสามารถที่จะเรียน และต้องการประกอบอาชีพทางด้านนี้ด้วย จึงต้องมีการวางแผนระยะยาว ไม่เหมือนกับการผลิตสินค้า ประกอบกับประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็น Medical Hub เป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ทำให้ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ยิ่งเพิ่มขึ้น และหากเปิดเสรีบุคลากรทางการแพทย์ภายใต้ข้อตกลงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็มีข้อกีดกันอยู่ เพราะการเปิดเสรีแรงงานไม่ได้ง่ายเท่ากับเสรีเรื่องอื่น เพราะคนที่ทำงานในประเทศนั้นก็ต้องปกป้องตลาดแรงงานของตัวเอง
เมื่อถามถึงการยืดอายุการทำงานให้นานขึ้น รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยทำไประดับหนึ่ง แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้ไม่เพียงพอ เพราะปัญหาในเรื่องโครงสร้างประชากรของไทยเป็นปัญหาที่หนักมาก และหนักกว่าหลายประเทศในยุโรปรวมทั้งญี่ปุ่น เพราะประเทศไทยเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลาง เปรียบเหมือนคนแก่ที่ยังไม่รวย ไม่มีเงินออม ไม่มีความพร้อม ดังนั้นต่อไปคนแก่ในไทยจะลำบากมาก
สำหรับวิธีแก้ปัญหา อาจจะต้องเปิดให้มีการตั้งถิ่นฐาน เปิดให้มีคนเข้ามาเป็นสัญชาติไทย แต่ต้องคัดเลือกคน เช่น เลือกคนที่พร้อมเป็นคนไทย รักประเทศไทย มีความรู้ความสามารถ เหมือนหลายประเทศในตอนนี้ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา
แต่ในไทยเองมีปัญหานี้อยู่แล้ว เป็นการรับคนโดยสภาวะของการไหลเข้าของคน เช่น แรงงานทักษะไม่สูง เช่น ประเทศเพื่อนบ้านที่หนีความยากลำบากเข้ามาประมาณล้านกว่าคน ปัญหาของไทยคือไม่ใช่การว่างงาน แต่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องขึ้นค่าจ้าง
ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ จะต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแบบเดียวกับยุโรป เช่น ทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง ซึ่งข้อดีของไทยก็มีเยอะเช่นกัน
การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมอย่างไร
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้จะส่งผลในทางบวก เพราะจะทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น และไม่ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องต้นทุนที่สูงเกินไป ระดับค่าแรง 400 บาทสามารถปรับได้ ซึ่งตอนนี้ระดับค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดคือ 354 บาท ที่ระยอง ภูเก็ต ชลบุรี
แต่ถามว่าในส่วนค่าครองชีพ ค่าแรง 400 บาทก็ยังไม่พออยู่ดี แค่เป็นค่าแรงที่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างค่อนข้างลำบาก แต่พอประคับประคองชีวิตไปได้ แต่ยังไม่ใช่ค่าแรงที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น คนส่วนใหญ่จึงเป็นหนี้ ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงมาก ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็สูงกว่ารายได้ ฉะนั้นคนจึงก่อหนี้ ไม่ใช่ว่าเขาอยากเป็นหนี้
แต่ถ้าเราจะไปปรับขึ้นมากกว่านี้ก็จะกระทบกับธุรกิจขนาดเล็ก SME ที่ใช้แรงงานเข้มข้น เรื่องแบบนี้ต้องพัฒนาไปพร้อมกัน คือ ต้องพัฒนาศักยภาพธุรกิจไทยเข้มแข็งขึ้น ผลิตสินค้ามูลค่าสูงขึ้นเพื่อจะได้มีเงินมาจ่ายค่าแรง ทางรัฐบาลเองก็อาจจะไปช่วยด้านอื่น เช่น รถเมล์ฟรี เรียนฟรี เพื่อไปลดค่าใช้จ่าย ให้ประชาชนมีเงินออม มีเวลาพักผ่อน ไปศึกษาเรียนรู้
หากตามเกณฑ์ของ International Labour Organization หรือ ILO ประเทศไทยคงทำไม่ได้ เพราะเกณฑ์ดังกล่าว ค่าแรงขั้นต่ำจะต้องเป็นค่าแรงที่คนงานเพียงพอต่อการดำรงชีพและสามารถเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวได้อีก 2 คน ดังนั้น 400 บาท จึงไม่พออยู่แล้ว
การปรับ "ค่าแรง" จำเป็นต้องปรับให้เท่ากันทั่วประเทศหรือไม่
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้ากำหนดอัตราเดียวทั่วประเทศ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ จะทำให้อำนาจต่อรองของกระบวนการแรงงานสูงขึ้น เพราะจะเป็นการเจรจาทั้งประเทศ แต่หากปรับเป็นพื้นที่ อำนาจของสหภาพแรงงานจะน้อยลง จึงเห็นได้ชัดว่าบางพื้นที่ไม่มีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้นานมาก
แต่หากคิดแบบเศรษฐศาสตร์ตามอุปสงค์ อุปทาน การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามพื้นที่จะสะท้อนกลไกตลาดได้ดีกว่า เพราะแต่ละพื้นที่ต้องการแรงงานต่างกัน จึงไม่ควรกำหนดค่าแรงให้เท่ากัน แต่เรื่องนี้จะดูแค่ตลาดแรงงานไม่ได้ แต่ต้องดูการอพยพของแรงงาน สถาบันครอบครัวไปด้วย
หากเรากำหนดค่าแรงให้ต่างกันมาก คนจะอพยพจากชนบทเข้าเมืองใหญ่ จะเกิดความแออัด ทิ้งบ้านมาทำงาน ทิ้งลูกให้ผู้สูงอายุดูแล ครอบครัวของคนงานระดับล่างจำนวนหนึ่งจึงแตกแยกเพราะต่างคนต่างดิ้นรนทำมาหากิน จึงอยากให้มองดูว่า หากเป็นแบบนี้จะทำให้อนาคตของชาติมีคุณภาพหรือไม่
เมื่อถามว่าการขึ้นค่าแรงไปถึงระดับ 600 บาท ในปี 2570 เป็นไปได้หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่ามีความเป็นไปได้มาก ถ้ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจโตได้เฉลี่ยปีละ 4-5%
อย่างไรก็ตาม ติดตาม "NewsRoom" สดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.30-19.30 น. ทางยูทูบไทยรัฐออนไลน์ และเฟซบุ๊กไทยรัฐออนไลน์.