"แยม ฐปณีย์" เล่านาทีระทึกสถานการณ์สงคราม "อิสราเอล - ฮามาส" ล่าสุดได้รับข่าวดีเจรจาฮามาสเสร็จสิ้น ลุ้นปล่อยตัวประกันคนไทย
วันที่ 1 พ.ย. 2566 ใน "NewsRoom" รายการทอล์กคุยข่าวใหญ่ ทางไทยรัฐออนไลน์ ดำเนินรายการโดย คิงส์ พีระวัฒน์ อัฐนาค และ กาย พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ วันนี้ยังคงเป็นการพูดคุยกันในประเด็นสถานการณ์สงคราม "อิสราเอล - ฮามาส"
ทั้งนี้ 'แยม' ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ที่เดินทางไปอิสราเอล เปิดเผยว่า ได้ไปอิสราเอลตั้งแต่ 18 ต.ค. 66 และเดินทางกลับไทยเมื่อ 31 ต.ค. 66 รวมประมาณ 13 วัน หลักๆ จะอยู่ที่กรุงเทลอาวีฟ ครั้งนี้เป็นการไปคนเดียว ภารกิจแรกคือไปดูการอพยพคนไทย และติดตามข่าวคนไทยที่เสียชีวิต บาดเจ็บและถูกจับเป็นตัวประกัน รวมทั้งไปดูแรงงานไทยที่อพยพกลับมา และยังทำงานอยู่ที่อิสราเอล
นอกจากนี้ได้พยายามไปบริเวณพื้นที่เรดโซน ซึ่งอยู่ใกล้กับฉนวนกาซาเพื่อไปดูสภาพการทำงานของคนไทย และติดตามข่าวเรื่องตัวประกันให้มากที่สุด แต่เนื่องจากเราไปในพื้นที่ของอิสราเอลจึงไม่สามารถเข้าไปในฉนวนกาซาได้ เข้าไปใกล้มากสุด 2 กม. จากฉนวนกาซา และได้ไปยังสถานที่เกิดเหตุและไปพบคนเจ็บ คนที่รอดชีวิตจากการถูกจับไปเป็นตัวประกัน
แยม ฐปณีย์ กล่าวอีกว่า ตนเองได้ไปที่โมชาฟ เรียกได้ว่าเป็นสหกรณ์การเกษตรที่คนไทยไปทำงานอยู่ แต่สุดท้ายแล้วพื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นเรดโซนที่ไม่สามารถเข้าถึง ขณะเดียวกันในกรุงเทลอาวีฟ มีการทำกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกัน 200 กว่าคน
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04ajYfZGIdSRHgt1psVoxpczIwO2A490.jpg)
...
ถามว่าจุดใดมีความเสี่ยงบ้าง เรื่องนี้ตนอยากให้เข้าใจก่อนว่า ข่าวที่ส่งมาจากฉนวนกาซาจะเป็นนักข่าวที่อยู่ที่นั่นอยู่แล้ว ส่วนนักข่าวที่ไปอิสราเอลไม่สามารถเข้าไปในฉนวนกาซาได้ใหม่ และอยากจะให้ทุกคนเข้าใจสภาพภูมิประเทศของอิสราเอลก่อนว่า จุดใดเป็นพื้นที่เสี่ยง
ตามข่าวจะเห็นว่าอิสราเอลเป็นประเทศที่เล็กและยาว ตนไปที่กรุงเทลอาวีฟ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญไม่ใช่เมืองหลวง เมืองหลวงคือเยรูซาเลม ที่กรุงเทลอาวีฟจะอยู่ในภาคกลางเป็นที่ตั้งของสถานทูตไทย ที่ตั้งของศูนย์พักพิง เทียบเท่ากับกรุงเทพฯ ส่วนฉนวนกาซาอยู่ทางภาคใต้ แต่คำว่าภาคใต้ของอิสราเอลไม่ได้เดินทางไกลแบบไทย แต่จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนทางเหนือจะใช้เวลาขับรถประมาณ 2 ชั่วโมง ดังนั้นพื้นที่เรดโซนเสี่ยงภัยคือพื้นที่ทางใต้ ในส่วนที่ติดกับฉนวนกาซา ประมาณ 4-5 กิโลเมตร ที่เกิดการถูกจับและเสียชีวิต
ทุกพื้นที่ในอิสราเอล หากมียิงจรวดเข้ามาก็จะมีการยิงสกัด ในตอนที่อยู่ในกรุงเทลอาวีฟ จะต้องมีการโหลดแอปฯ แจ้งเตือน เมื่อแอปฯ ส่งสัญญาณเตือน แสดงว่ามีการยิงจรวดเข้ามา เราจะต้องลงไปห้องใต้ดินที่มีห้องหลบภัย หากอิสราเอลสามารถสกัดได้จะใช้เวลาประมาณ 10 นาทีจึงค่อยขึ้นมา หรือครั้งที่ได้เดินทางไปภาคใต้ แล้วแอปฯ เตือนเสียงดัง รถทุกคันต้องจอดแล้วลงไปหมอบอยู่บนถนน
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นปกติของคนอิสราเอลในช่วงที่เกิดสงคราม คนในอิสราเอลจะรู้ว่าเมื่อได้ยินเสียงเตือนภัย มีจรวดยิงมา เขาจะต้องหมอบ ที่ผ่านมาเขามองว่าสิ่งที่เจอประจำ แต่ครั้งนี้มีความเสี่ยงคือมีการประกาศสงคราม มีการบุกภาคพื้นดินของฮามาสทางใต้ และการบุกทางเหนือ ซึ่งในจุดทางเหนือตนยังไม่มีโอกาสเดินทางไปถึง ส่วนนครเยรูซาเลม ซึ่งอยู่ใกล้กับเวสต์แบงก์ ยังไม่มีการโจมตีภาคพื้นดิน แต่อาจมีการยิงจรวดบ้าง แต่มีทหารดูแลความปลอดภัย
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04ajYfZGIdSRHgt1ps2Yb17xQjaloR4a.jpg)
แยม ฐปณีย์ กล่าวอีกว่า คนไทยที่อยู่ในอิสราเอลมีประมาณ 3 หมื่นกว่าคน ทำงานอยู่ภาคเกษตร 2 หมื่นกว่า คนอพยพมาเที่ยวบินสุดท้ายประมาณ 7-8 พันคน ดังนั้นคนไทยที่เหลือในอิสราเอลก็จะกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งชีวิตการเป็นอยู่ก็ตามที่เล่าไปข้างต้น ส่วนการเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ เทลอาวีฟไปยังทางใต้ยังสามารถขับรถได้ตามปกติ ยกเว้นจุดที่ติดกับฉนวนกาซา จะมีการปิดถนน ซึ่งเราเข้าไปไม่ได้อยู่แล้ว หากมีคนไทยหลงเหลือในเรดโซนจะมีรถของสถานทูตเข้าไปรับได้ ยกเว้นแต่เคร่งจริงๆ จะไม่สามารถเข้าไปได้ ก็ต้องติดอยู่ในนั้น ก็จะอันตราย นี่คือสิ่งที่ไปเห็นและเข้าว่าเหตุใดรัฐบาลจึงประกาศให้อพยพ แต่คนอื่นๆ ที่ยังไม่อยากกลับเพราะยังพอใช้ชีวิตอยู่ได้เหมือนชาวอิสราเอลทั่วไป
แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ เหตุใดแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอล เพราะเขามีรายได้ 5 หมื่นบาท - 1 แสนบาท ขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าของที่นา ยังไม่ได้เงินขนาดนี้ จึงต้องเข้าใจแรงงานที่อิสราเอลเขายอมทำงานในภาวะความเสี่ยงเพราะสร้างรายได้ให้กับเขา และแรงงานไทยส่งเงินกลับประเทศไทยประมาณปีละ 1,500 ล้านบาท ทำงานแค่ 5 เดือน สามารถผ่อนหนี้ที่กู้ไป 1 แสนภายใน 2 เดือน และที่เหลือคือเงินเก็บของเขา และสาเหตุที่อิสราเอลมีรายได้ดีคือ 1 เชเกล เท่ากับ 10 บาทไทย ขณะเดียวกันค่าครองชีพก็สูง แต่แรงงานไทยมีรายได้ 5 หมื่น ใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 1 หมื่น ที่เหลือจะส่งเงินกลับบ้าน
ถามว่าการทำงานสื่อที่อิสราเอล มีความปลอดภัยแค่ไหน การเดินทางไปในครั้งนี้ ตนได้ขอวีซ่าไปทำข่าวในฐานะนักข่าว ไม่ได้ไปเป็นทีมข่าวเหมือนสำนักข่าวต่างประเทศ หากจะเข้าพื้นที่อันตรายต้องมีเสื้อเกราะ มีช่างภาพ แต่ครั้งนี้ตนไปคนเดียวจึงค่อนข้างต้องประหยัดค่าใช้จ่าย แรกจึงไปอาศัยรถของสถานทูต ไปทำข่าวกับเขา และเน้นเรื่องคนไทยเป็นหลัก ดังนั้นการทำงานของเราจึงมีความปลอดภัยในตัวอยู่แล้วเพราะเราไปกับเจ้าหน้าที่
แต่เมื่อต้องลงพื้นที่ด้านอื่น ก็ต้องเช่ารถ ซึ่งในช่วงนั้นมีกลุ่มจิตอาสาที่ไปรับคนไทยตามที่ต่างๆ ก็ไปกับเขา ดังนั้นการทำงานก็อันตรายเหมือนกับคนทั่วไปในอิสราเอล เมื่อข้าในพื้นเสื่องภัยก็จะรู้ขอบเขตของการทำงาน ไม่เข้าไปในเขตที่ห้ามเข้า
ปฏิกิริยาของคนในอิสราเอล
แยม ฐปณีย์ กล่าวว่า ได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุม เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จับตัวประกันจำนวนมากที่สุด และมีต่างชาติด้วย ดังนั้นสิ่งที่เห็นคือคนที่ออกมาชุมนุม เขาเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลกดดันเพื่อให้ปล่อยตัวประกัน แต่สิ่งที่คนอิสราเอลให้ความสำคัญคือ เรียกร้องเรื่องตัวประกัน และการหยุดยิง เป็นการเรียกร้องทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดให้เร็วที่สุด หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ ชีวิตของตัวประกันก็มีคุณค่าเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะชาติใดก็ตาม แต่อาจจะมีมุมอื่นที่เห็นในข่าวเรื่องความสูญเสียในกาซา
สำหรับการติดต่อประสานงานช่วยเหลือคนไทย คิดว่าในแง่ของการตั้งศูนย์ฯ ที่ยาวนาน มีเครื่องบินอพยพ การบริการจัดการที่ดี เป็นระบบ ทำให้มีหลายประเทศมาดูงาน ซึ่งหลายประเทศไม่มีเครื่องบินฟรีแบบนี้
นอกจากนี้ยังได้คุยกับ นายจ้างชาวอิสราเอล ทราบว่า การที่คนไทยกลับประเทศจะทำให้ไม่มีคนเก็บผลผลิต ทำให้ขาดทุน และอย่าลืมว่าคนไทยเป็นภาคส่วนที่สำคัญในภาคเกษตร ซึ่งภาคเกษตรคืออาหารที่สำคัญอย่างมากช่วงสงคราม เขาก็กลัวว่าหากคนไทยกลับหมดแล้วจะไม่มีแรงงาน จึงมีการไปติดต่อที่ศรีลังกา อินเดียบ้าง แต่เขาก็ยังต้องการแรงงานไทย และพร้อมจะขึ้นเงินเดือนให้
ข่าวดี เจรจาฮามาสเสร็จสิ้น ลุ้นปล่อยตัวประกันคนไทย
ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด อ.ประจำภาควิชาอิสลามการเมือง คณะรัฐศาสตร์ ม.นานาชาติอัลมุศฏอฟาและนายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน หนึ่งในทีมงานเจรจากับทางฮามาส เปิดเผยว่า ณ วันนี้ การเจรจาของเราดำเนินไปถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ทุกครั้งที่มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของขบวนฮามาสจะมีการส่งสารไปถึงผู้นำระดับสูงของฮามาส ถือว่าการเจรจาถือว่าจบสมบูรณ์แล้วโดยมีคณะผู้แทนจากประเทศไทย รอวันที่ทางฮามาสจะปล่อย แต่ก็คำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงานต่างประเทศทั้งหมด เพราะสถานการณ์ยังไม่พร้อม แต่คาดว่าไม่กี่วัน เนื่องจากโฆษกของฮามาสออกมาแถลงว่าจะมีการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมประมาณ 40-50 คน แต่ยังไม่ทราบตัวเลขที่แน่ชัด สิ่งที่กังวลคือการถล่มของอิสราเอลไปยังพื้นที่ต่างๆ อาจมีเชลยศึกถูกสังหารไปด้วย
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04ajYfZGIdSRHgt1psW5oo2OtnyXFC59.jpg)
ในส่วนของจำนวนแรงงานไทยที่ถูกจับตัวไป เราได้รับรายชื่อจากทางการไทยและได้ส่งไปให้ทางฮามาสตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่ได้ยืนยันกลับมาว่ากี่คน
ดร.เลอพงษ์ กล่าวว่า วิธีการปล่อยตัวประกันถือว่าเป็นความลับ อาจจะมีการส่งสัญญาณก่อนไม่นาน แต่จะปิดเป็นความลับทั้งหมด ส่วนจะปล่อยตัวประกันทั้งหมดหรือไม่ แต่เบื้องต้นคิดว่า ตัวประกันอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย
เมื่อถามว่า ตัวประกันคนไทยปลอดภัยทั้งหมดหรือไม่ เรื่องนี้ได้คุยกับเขาเมื่อ 2-3 วันก่อน เขายืนยันว่าปลอดภัย แต่ไม่รับรองได้ 100% ว่าในอนาคตอันใกล้จะปลอดภัยหรือไม่
ด้านคุณมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาฯ กล่าวว่า การปล่อยตัวประกันคนไทย หัวใจหลักคือความปลอดภัย เกรงว่าหากปล่อยออกมาแล้วจะไม่ปลอดภัย เช่น อาจโดนระเบิด ในการเจราจาค่อนข้างสรุปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากมีการพูดคุยกับระดับผู้นำของฮามาส ที่สำคัญทางฝั่งนั้นไม่ได้มองเราในฐานะรัฐบาลไทย แต่เขามองเราในฐานะที่เป็นพี่น้องกัน และเขายินดีจะปล่อย
อย่างไรก็ตาม ติดตาม "NewsRoom" สดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.30-19.30 น. ทางยูทูบไทยรัฐออนไลน์ และเฟซบุ๊กไทยรัฐออนไลน์.