คุยกับแกนนำและนักวิชาการ ร่วมวิเคราะห์เมื่อไหร่ "คนไทย" จะได้นายกฯ มองเส้นทาง "พรรคเพื่อไทย" จัดตั้งรัฐบาล หลังจากนี้ไม่ง่าย อาจจะยากขึ้นตามลำดับ
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 4 สิงหาคม 2566 ในรายการ "เปิดปากกับภาคภูมิ" ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ดำเนินรายการโดย นายภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ ได้พูดคุยกับแขกรับเชิญวันนี้คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน, รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก, รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช มาพูดคุยเกี่ยวกับการลุ้นต่อไป...เมื่อไหร่ "คนไทย" จะได้นายกฯ
ซึ่งวานนี้ (3 สิงหาคม 2566) มีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประกาศเลื่อนพิจารณาปมห้ามเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โหวตนายกฯ รอบ 2 ออกไปเป็นวันที่ 16 สิงหาคม 2566 และล่าสุดวันนี้ในการประชุมรัฐสภาได้มีการสั่งเลื่อนประชุมพิจารณาแก้ไข ม.272 ปิดสวิตช์ สว. ออกไปด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายจตุพร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความเมตตาของศาลรัฐธรรมนูญที่แผ่ไปยังคนที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล เพราะขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เรียบร้อย การเจรจายังไม่ครบถ้วนลงตัว คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยยังไม่เพียงพอ
...
ด้าน รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า เหตุการณ์ที่มีการเลื่อนกันนั้นทำให้ประชาชนสงสัย เพราะทันทีที่ศาลมีคำสั่งเลื่อน สภาฯ ก็ต้องเลื่อนไปด้วย เป็นเรื่องที่เข้าใจ แต่คนสงสัยว่าเหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงเลื่อนการแถลงข่าวการจัดตั้งรัฐบาลด้วย หลายคนตั้งข้อสงเกตว่าหรือไม่กล้าประกาศออกมา
ทาง รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า จากเหตุการณ์เลื่อนดังกล่าวทำให้วันนี้มีการเลื่อนประชุมสภาฯ นำไปสู่การเลื่อนสุดท้ายคือ “เลื่อนประเทศไทย” ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางการเมือง เศรษฐกิจ และดูเหมือนว่าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยหลังจากปล่อยมือกับพรรคก้าวไกลแล้วจะไปได้ง่ายๆ แต่ดูแล้วไม่ง่าย วันนี้พรรคเพื่อไทยอยู่ในภาวะล่มละลายทางความเชื่อถือ นี่คือเรื่องใหญ่
ถามว่า แล้วใครจะฟื้นคววามล้มละลายนี้ได้ ก็คือพรรคเพื่อไทยว่า หลังจากนี้จะจับขั้วกับใคร หากไปจับขั้วกับ 2 ลุง มองว่าเป็นการล้มละลายยาวๆ และเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลก็มีความซับซ้อน เพราะต้องรอดูหลายเรื่อง
สำหรับเรื่องการการวินิจฉัยกรณีโหวตซ้ำ หลายคนบอกว่าเป็นการตัดพรรคก้าวไกล แต่จริงๆ แล้วเป็นการบีบพรรคเพื่อไทยในการเดินเกมเช่นกัน เพราะวันนี้หากดูแคนดิเดตทั้ง 9 คน ตอนนี้จับตา 4 คน คือ นายเศรษฐา ทวีสิน, อิ๊งค์ แพทองธาร จากพรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า ในกรณีคุณเศรษฐาโหวตนายกรัฐมนตรีไม่ผ่าน ก็จะเหลือคุณอิ๊งค์คนเดียว หากเป็นเช่นนั้นส่วนตัวเชื่อว่าคุณทักษิณ ชินวัตร คงไม่ตัดสินใจให้ลูกสาวเข้ามาในสถาการณ์นี้ ดังนั้นโอกาสที่ตำแหน่งนายกรัฐบาลจะไปตกอยู่อีกฝั่ง
นายจตุพร กล่าวอีกว่า ตนมองว่าในกรณีของคุณเศรษฐาจะยากขึ้นตามลำดับ คือจะหนักกว่าคุณพิธา เพราะคุณเศรษฐาเคยพูดถึงการจัดตั้งรัฐบาลไว้หลายเรื่องมาก แม้ในตอนหลังจะมีการชี้แจง แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ
"การเป็นนายกรัฐมนตรี ความซื่อสัตย์สุจริตต้องเป็นที่ประจักษ์ และมาตรฐานทางจริยธรรมต้องสูงกว่าพ่อค้านักธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายภาษีอากร ต้องเป็นแบบอย่างในขั้นแรกว่าจริยธรรมในเรื่องนี้" หลังจากพรรคเพื่อไทยสลัดขั้วกับพรรคก้าวไกล อำนาจต่อรองของพรรคเพื่อไทยจะหายไป การเจรจาจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า การที่คุณชูวิทย์แถลงอาจจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่อาจจะต้องพิสูจน์กันต่อ แต่เป็นสารตั้งต้นที่จะนำไปสู่การพิจารณาในสภาฯ อาจจะมีการหยิบยกประเด็นทางจริยธรรมขึ้นมา ซึ่งเป็นคุณสมบัติของคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี มีเกมการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
รศ.ดร.นันทนา กล่าวถึงเส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยว่า ตอนนี้พรรคเพื่อไทยกำลังเดินมาถึงจุดที่เรียกว่าทางตันก็ว่าได้ แล้วก็ติดกับตัวเองจากสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเองทั้งหมด ตั้งแต่กรณีประกาศแยกตัวกับพรรคก้าวไกล ทำให้เขาเองต้องนำเสนอสิ่งที่เขาเคยได้บอกไว้ก่อนเลือกตั้งอย่างการที่เคยประกาศมีลุงไม่มีเรา และเรื่อง ม.112
อีกประการหนึ่งที่สนใจคือ การที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ขอให้พรรคก้าวไกลยกมือโหวตให้หลังจากแยกกันแล้ว แต่กลับเป็นการให้เอกสิทธิ์แทนนั้น ยิ่งทำให้คนสงสัยเรื่องการรวมคะแนนเสียงมากขึ้น ว่าอาจจะเป็นการขอคะแนน สว. และการรวมกับพรรค 2 ลุงหรือไม่
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวอีกว่า ในวันนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำอะไรผิด แต่คิดไม่ละเอียดรอบคอบ ทำให้แลนด์สไลด์เป็นเลื่อนสไลด์ เพราะวันนี้สิ่งที่เพื่อไทยลืมคิดไปคือไม่สามารถผูกขาดหีบบัตรเลือกตั้งได้เหมือนในอดีต ซึ่งในดีตคนที่มาทางเส้นทางประชาธิปไตย จะคิดว่าพรรคเพื่อไทยคือทางเลือกหลัก แต่ในปัจจุบันไม่ใช่ เพราะมีการเกิดขึ้นของพรรคก้าวไกล และอาจจะมีพรรคลักษณะนี้เกิดขึ้นมาอีก
การเมืองวันนี้ประชาชนอย่างเข้ามามีส่วนร่วม และการเติบโตของโลกโซเชียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรับรู้ข่าวสาร หรือแม้กระทั่งการสื่อสารกับผู้มีอำนาจง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือต้องกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น.