สาวเล่าประสบการณ์ภูมิใจได้รับราชการครูกว่า 10 ปี แต่เผยเหตุผลที่ตัดสินใจลาออก หลังเจอระบบเอกสาร รู้สึกโดนงานกลืนชีวิต ด้านโซเชียลให้กำลังใจ 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 มีรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sunsanee Wonghong ได้แชร์เรื่องราวขณะรับราชการครู พร้อมเหตุผลที่ตัดสินใจลาออก หลังจากรับราชการรวม 10 ปี 8 เดือน 24 วัน รวมไปถึงคำแนะนำดีๆ สำหรับคนที่มีความคิดลาออกจากงาน

โดยมีระบุข้อความว่า ลาออกจากราชการ บันทึกความทรงจำ ณ 1 พ.ค. 2566

อดีต : นางสาวศันสนีย์ วงศ์หงษ์
ปัจจุบัน : นางศันสนีย์ มุกดาหาร

ประวัติการศึกษา

- ปริญญาตรี สังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ปริญญาโท สาขาการสอนสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประวัติการทำงาน

- 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย โรงเรียนหนองบอนวิทยาคม จังหวัดตราด สพม.17
- 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ตำแหน่ง คศ.1 โรงเรียนแกลง “วิทยสถาวร” จังหวัดระยอง สพม.18
- 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ตำแหน่ง คศ.2 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี สพม.จบตร.
- 27 มีนาคม พ.ศ. 2566 ยื่นคำร้องขอลาออกจากราชการ โดยมีคำสั่ง สพม.จบตร. ที่ 101/2566 อนุญาตให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาลาออกจากราชการ มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
- รับราชการรวม 10 ปี 8 เดือน 24 วัน

สิ่งที่ภาคภูมิใจในอดีตที่ผ่านมา

- การสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ลำดับที่ 4 ของเขต
- เรียนจบปริญญาโทด้านการสอนมาอย่างเข้มข้นจนหยดสุดท้าย
- ทุ่มเทกับการสอนมาอย่างดีตลอดอายุราชการ
- ทุ่มเทกับงานราชการมาอย่างหนักไม่เคยแผ่ว
- การเป็นครูบรรจุใหม่ที่หนองบอนวิทยาคมทำให้มีโอกาสทำงานพิธีกรจากการชักชวนของพี่ปัท จากคนที่พูดน้อยมากจนกลายเป็นความสามารถพิเศษในปัจจุบัน และเป็นทักษะติดตัวที่ต่อยอดในการรับราชการได้อย่างดี
- และไม่ว่ารับราชการอยู่ที่โรงเรียนไหน ศันสนีย์พบว่า ได้โอกาสทำงานสำคัญๆ อยู่เสมอ ตำแหน่งล่าสุดที่ได้รับก่อนลาออก : หัวหน้างานสภานักเรียน : รองหัวหน้าระดับ ม.4 และมีส่วนร่วมกับงานสำคัญๆ ของโรงเรียนจากการเป็นหัวหน้างานสภานักเรียนอีกมากมาย
คำถามที่หลายคนคงถามตรงกันคือ ลาออกทำไม???

...

ในช่วงแรกที่ตัดสินใจบอกคนอื่นน้อยมาก เพราะงานเยอะยังไม่พร้อมจะตอบคำถามใครนัก พอเวลาผ่านไปก็เริ่มบอกคนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อให้เขาได้เตรียมวางแผนก่อนที่เราจะออก

ลาออกทำไม...

ขอตอบในส่วนที่อยากตอบและอยากสื่อสาร จะได้เข้าใจตรงกันว่าทำไมศันสนีย์ไม่ไปโรงเรียน

1. ชีวิตการเป็นครูของศันสนีย์ในปัจจุบันนั้นเหนื่อยและหนักหนามาก สมกับคำว่า “คุรุ” ที่แปลว่า หนัก ตั้งแต่รับราชการมา ไม่เคยมีคำว่าสบาย ใครที่บอกอาชีพครูสบายนี่อยากให้มาลองเลย

2. ศันสนีย์ไม่ได้เป็นครูอย่างเดียว เป็นชาวสวนด้วย และเป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้ เดิมจันทร์-ศุกร์ กลางวันและกลางคืนทำงานโรงเรียน เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดอื่นๆ ทำงานสวน แต่ปัจจุบันพบว่างานโรงเรียนได้กลืนกินชีวิตศันสนีย์ไปทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว แทบไม่มีเวลาให้กับสวนหรือการพักผ่อนเลย เสาร์-อาทิตย์ กลางวันกลางคืนยังนั่งพิมพ์งานแง็กๆ อยู่หน้าคอม งานโรงเรียนหลอกหลอนทั้งวันทั้งคืน ช่วงเวลาสำคัญของสวนเช่นการแต่งลูกและการขายมันเป็นดีลสำคัญมาก แต่ก็มาไม่ได้ต้องไปโรงเรียน

3. เหตุผลจากข้อ 1 เริ่มทำให้ศันสนีย์ เริ่มกินข้าวไม่ตรงเวลาจนถึงไม่ได้กินข้าวเที่ยงหลายครั้ง ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นเลย และเมื่อต้องทำสวนด้วยแน่นอนว่าคำว่าพักผ่อนจึงไม่มีบนโลกของศันสนีย์ เป็นครูก็หนัก ทำสวนก็หนัก ร่างกายและจิตใจก็เริ่มพังเรื่อยๆ คนที่ทำอาชีพครูอย่างเดียว หรือทำสวนอย่างเดียวจึงอาจไม่เข้าใจ

4. ความคิดว่าจะลาออกไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่าปีแล้วแค่ไม่ได้พูดกับใครเยอะ อยู่ๆ เป้าหมายของชีวิตก็คือการลาออกเฉย ถามว่าทำไม? เราเบื่อระบบหลายๆตรงที่มันทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เป็นระบบที่บ้าเอกสารมาก ต้องปั่นเอกสารหนาๆ เยอะมาก แต่ไม่ได้มีใครอ่านหรอก ดูแค่ว่าปกคืออะไรหนาไหม ส่งยัง จบ!! แล้วก็เบื่อวิถีของครูที่บ้าการแข่งขัน ไม่อยากแข่งก็ต้องแข่ง เพื่อชื่อเสียงของโรงเรียน เพื่อให้มีผลงาน เด็กบางกลุ่มบางคนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะแข่ง ศปหถก. เอาจริงๆ นะส่งครูแข่งเถอะ หมดงบกันไปเท่าไร ความรู้สึกส่วนตัวมองว่า เรากำลังหลงทางกันรึเปล่า สิ่งที่เราควรโฟกัสคือการสอนในห้อง งานสอนมันต้องมาลำดับ 1 ไม่ใช่งานพิเศษ ไม่ใช่งานอื่น และก็มีอีกหลายประเด็นที่คนเป็นครูก็รู้กันดี การรอให้อายุราชการครบ 25 ปีแล้วค่อยลาออก สำหรับศันสนีย์จึงเป็นไปได้ยากมากๆ

5. สุดท้ายก็ตกตะกอนว่า... การรับราชการครูดีนะ ศันสนีย์ภูมิใจที่ได้รับราชการครู เงินเดือนดีกว่าราชการอื่นๆ มีสวัสดิการให้นั่นนี่ แต่สิ่งที่ต้องแลกคือสุขภาพกาย ใจ เวลา ชีวิต ที่ต้องทุ่ม ณ ตอนนี้เริ่มมองว่ามันไม่คุ้ม ครูที่สบายคือครูที่ตายแล้วกับครูที่ไม่ทำงาน เราเป็นคนทำอะไรจริงจังและทุ่มเท การให้เราหลอยๆค่อยๆลดงานจนเป็นครูที่ไม่ทำงาน ไม่ใช่วิถีของศันสนีย์...อาชีพครูก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่มันแค่ไม่เข้ากันกับสิ่งที่เราเป็นในปัจจุบันแล้ว ในอดีตเป้าหมายของชีวิตคือการเติบโตในชีวิตราชการ แต่ปัจจุบันความคิดเปลี่ยนไป เป้าหมายของชีวิตเราคือการได้ใช้ชีวิต มีสุขภาพกายใจที่ดี และมีเวลากับครอบครัว

จากเหตุผลทั้งหมดที่เกิดขึ้น มันก็มาประจวบเหมาะกับจังหวะของครอบครัว สวนที่ต้องการการดูแล แม่ก็เริ่มสุขภาพไม่ดี คิดว่าการทุ่มเทชีวิตให้กับครอบครัวมันเป็นเรื่องที่ดีกว่า เสียดายอยู่สองอย่างคือ การไม่ได้สอนนักเรียนแล้วเพราะเราชอบสอน และจะต้องห่างออกมาจากมิตรภาพของเพื่อนร่วมงานที่น่ารักมากๆ

สุดท้ายนี้ ถ้าใครคิดจะลาออกก็ขอให้ไตร่ตรองให้ดี คำถามที่ต้องตอบให้ได้คือ

1. ลาออกแล้วจะไปทำอะไร มีรายได้มาจากไหน จะใช้ชีวิตอย่างไร
2. ต้องถอดยศถาบรรดาศักดิ์กลายมาเป็นคนธรรมดา รับได้หรือไม่
3. เมื่อไม่ได้รับสิทธิราชการของเราแล้ว เราจะดูแลตัวเองและครอบครัวอย่างไร
4. ก่อนออกต้องศึกษาว่าเราจะได้สิทธิอะไรจากราชการบ้าง และวางแผนให้ดี
(ของเรารับราชการเกิน 10 ปี มีสิทธิรับบำเหน็จและ กบข.)
5. ดูเงื่อนไขการลาออกด้วยว่าอยู่ในเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่ ต้องไม่อยู่ในช่วงลาศึกษาต่อ ใช้ทุน อยู่ระหว่างถูกสอบวินัยหรือคดี ที่สำคัญถ้ามีหนี้ต้องเคลียร์ให้เรียบร้อยก่อน
6. ยื่นคำร้องขอลาออกไม่น้อยกว่า 30 วันต่อผู้บังคับบัญชา

จากการสอบถาม คุณศันสนีย์ เจ้าของโพสต์ เปิดเผยถึงชีวิตหลังลาออกว่า คำสั่งลาออกมีผลเมื่อวาน ตอนนี้ทำสวน จริงๆ ก็ทำสวนอยู่แล้ว แต่แอบใจหายที่เราจะไม่ได้สอนนักเรียนแล้ว ไม่ได้ไปเจอเพื่อนร่วมงานที่น่ารักแล้ว ชีวิตก็น่าจะปรับจากที่ทำสวนเสาร์-อาทิตย์ มาทำสวนทุกวันค่ะ ช่วงนี้ก็คงต้องปรับตัว

ถามว่าตอนที่ตัดสินใจลาออกมีคนคัดค้านหรือไม่ คุณศันสนีย์ ยอมรับว่า มีหลายคนบอกให้คิดดีๆ หลายคนไม่อยากให้ออก เพราะเสียดายความสามารถ แต่เราอยู่ในจุดที่เราอยากมีความสุขแล้วค่ะ สิ่งที่รักแต่ไม่มีความสุข ถึงเวลาก็ต้องปล่อยค่ะ

อย่างไรก็ตามพบว่า หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไปได้มีคนให้ความสนใจเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากและแชร์ออกไปนับหมื่นครั้ง โดยส่วนใหญ่ได้มาให้กำลังใจ ขณะที่บางส่วนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับราชการครูที่ต้องเจอกับงานเอกสารจำนวนมาก และหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยเสียครูที่มีความสามารถไปมากเพราะระบบเอกสาร.