ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นโลกยุค VOCA World ที่มีความผันผวน คลุมเครือ ไม่แน่นอน จนยากที่ศาสตร์หรือองค์ความรู้ในปัจจุบันจะพยากรณ์หรือคาดเดาได้ “การเรียนรู้” ถือว่าเป็น “ทักษะ” ที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีศักยภาพพร้อมจะรับมือ และอยู่ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้
ขณะที่ระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบัน มุ่งเน้นไปที่องค์ความรู้และความเข้าใจเฉพาะส่วน ซึ่งสวนทางกับคำว่า “การเรียนรู้” ที่เป็นการยกระดับรู้และความเข้าใจ ขึ้นไปสู่การมี “กระบวนทัศน์” ที่สามารถบูรณาการและเชื่อมโยงทุกองค์ความรู้เข้าไว้ด้วยกันจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญา”
เมื่อ “การเรียนรู้” ไม่ได้จำกัดพื้นที่อยู่เฉพาะในสถาบันการศึกษา แต่การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่ง ทุกสถานที่ และทุกเวลา ดังนั้นการมี “พื้นที่เรียนรู้” หรือ “Learning Space” จึงเป็นหนึ่งในกลไกและเครื่องมือสำคัญในการสร้าง “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” เพื่อเติมเต็มทุนมนุษย์ในทุกช่วงวัย
งานวิจัยจากต่างประเทศหลายชิ้นระบุตรงกันว่า การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์นับจากนี้จะไม่สามารถขับเคลื่อนได้จากการทำงานในประเด็นสุขภาพเพียงด้านเดียว แต่จะต้องเกิดขึ้นจากการพัฒนาและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ
ดังนั้นการมี “พื้นที่เรียนรู้” หรือ “Learning Space”
จึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการสร้าง “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” เพื่อเติมเต็มรากฐานของเด็กและเยาวชนในทุกแต่ละช่วงวัย ด้วยการเปลี่ยนให้ทุกพื้นที่ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และในชุมชน ให้กลายพื้นที่เรียนรู้ ที่จะช่วยเสริมสร้างให้เกิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนครบทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา เพื่อปูทางสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ
อย่างเรื่องการ “เล่น” ของเด็กปฐมวัยที่ในวันนี้จะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพื่อความสนุกอีกต่อไป เพราะการเล่นของเด็กวัย 2-4 ปี ถูกพิสูจน์และยืนยันจากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศอย่างชัดเจนแล้วว่ามีส่วนสำคัญในการสร้าง EF หรือ Executive Function ที่หมายถึง “ทักษะการคิดในเชิงบริหาร” อันเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ในยุคศตวรรษที่ 21 และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นและติดตัวไปตลอดชีวิต
ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา กรุงเทพฯ
แม้ว่าจะเป็นชุมชนสังคมเมือง แต่ก็สามารถประยุกต์นำเอาการเล่นอิสระมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กปฐมวัยได้ด้วยการจัดกิจกรรม "Play Day วันเล่นสนุก" เปลี่ยนพื้นที่เล็กๆ ให้เป็นพื้นที่แห่งความสุข ออกแบบกิจกรรมและหลักสูตรที่ใช้ความสนุกจากการเล่นนำไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องราว และยังพบผลลัพธ์ชี้ชัดว่าการ "เล่นอิสระ" ของเด็กร้อยละ 98 มีพัฒนาการที่สูงขึ้น
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง จังหวัดศรีสะเกษ
แม้จะเป็นชุมชนในสังคมชนบท แต่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ก็สามารถบูรณาการไปกับต้นทุนทางสังคมในพื้นที่ที่มีอยู่ได้ โดยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ออกไปเล่นข้างนอก ใช้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชน พื้นที่ในธรรมชาติ เป็นห้องเรียนเป็นพื้นที่เล่นเพื่อสร้างการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างมีความสุขได้เช่นกัน
ไม่แตกต่างไปจากพื้นที่เรียนรู้ของ
โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง จังหวัดบุรีรัมย์
ที่นำเอาเสียงดนตรีและวิถีที่สอดคล้องกับธรรมชาติในสังคมชนบทมาสร้างการเรียนรู้ในมิติต่างๆ ให้กับเด็กๆ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพื้นที่เรียนรู้ที่เชื่อมร้อยวิถีชีวิต ธรรมชาติ และเสียงดนตรี เข้ามาเติมเต็มชีวิตของเด็กๆ ให้มีชีวา มีผืนนาในทุ่งกว้างเป็นห้องเรียนสอนวิชาชีวิตทั้งวิชาภายนอกและวิชาภายในให้กับลูกศิษย์หลากวัยได้เติบโตไปอย่างงดงาม โดยไม่หลงลืมรากเหง้า ศิลปวัฒนธรรม และคุณค่าของความดีงาม ท่ามกลางความเป็นไปของระบบการศึกษาหลักที่ไม่อาจเติมเต็มวิชาชีวิตได้อย่างสมบูรณ์
และท่ามกลางสังคมที่แก่งแย่งแข่งขันดิ้นรนเพื่อดำรงชีวิตในสังคมเมืองใหญ่ ไม่ได้เป็นข้อจำกัดของการสร้างพื้นที่เรียนรู้ของกลุ่ม
คลองเตยดีจัง กรุงเทพฯ
ด้วยการเปิดพื้นที่เรียนรู้แบบบูรณาการเพื่อตอบโจทย์ชีวิตเยาวชนชุมชนคลองเตยพื้นที่สร้างสรรค์ ใช้เสียงดนตรีสร้างพลังขับเคลื่อนการเรียนรู้ บูรณาการ Learn & Earn กับการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตเช่น การจัดการขยะเพื่อแก้ปัญหาขยะร่วมกับชาวชุมชนคลองเตย หลักสูตรการขายเสื้อผ้ามือสอง ทำให้เยาวชนสามารถสร้างรายได้รวมถึงการค้นพบคุณค่าของตนเองตามความถนัดในด้านต่างๆ จากพื้นที่เรียนรู้ที่ปลอดภัยแห่งนี้
เติมวันว่าง ลดเวลาเสี่ยง
เพื่ออนาคตเด็กและเยาวชนไทย
การใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอม พัฒนาและสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น ภายใต้โครงการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ที่ดำเนินงานโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เป็นการจับมือร่วมกันทำงานของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อเปิดพื้นที่เรียนรู้ ใช้เวลาว่างไขประตูไปสู่การสร้างประสบการณ์และทักษะใหม่ๆ ที่ทำให้เด็ก เยาวชน และครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่ดีๆ ใกล้บ้านอย่างสร้างสรรค์
วันนี้พื้นที่เรียนรู้จึงมิได้มีความหมายถึงพื้นที่ในแง่มุมด้านมิติทางเรขาคณิต แต่เป็นการเปิดพื้นที่ทางความคิด เป็นนวัตกรรมที่ทุกคนและทุกภาคส่วนในสังคมไทย สามารถร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ ในทุกๆ พื้นที่ของสังคมไทย และพื้นที่เรียนรู้ยังไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจกรรมเพื่อส่งมอบความสุข ความสนุก รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะให้กับผู้เข้าร่วมทุกช่วงวัยเท่านั้น
แต่เป็นการส่งต่อ ปลูกฝัง และพัฒนา “กระบวนการเรียนรู้” เข้าไปสู่หัวใจของคนไทยทุกเพศวัย เพื่อสร้างค่านิยม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เกิดเป็นพลังแห่งการเรียนรู้ที่จะนำพาสังคมไทยก้าวไปสู่การเป็นสังคมที่มีสุขภาวะ
ที่สำคัญการเรียนรู้จะนำไปสู่การพัฒนา “กระบวนการคิด” ที่มีผลลัพธ์คือ “ปัญญา” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนามนุษย์ยุคใหม่ ที่พร้อมขับเคลื่อนสังคมไทยให้ยืนหยัดในสังคมโลกอย่างมั่นคงด้วยพลังแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นพื้นที่เรียนรู้จึงเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมเพื่อระดมพลังสร้างเครือข่ายของทุกภาคส่วน ในการชักชวนให้คนไทยทุกคน ร่วมก้าวเดินไปสู่การมีสังคมสุขภาวะไปพร้อมๆ กัน.
ข้อมูลจาก
ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา กรุงเทพฯ
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโซงเลง จังหวัดศรีสะเกษ
คลองเตยดีจัง กรุงเทพฯ
โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง จังหวัดบุรีรัมย์