นักวิชาการสิ่งแวดล้อมเตือน สารซีเซียม-137 คือสารก่อมะเร็ง หากสูดดมด้วยความเข้มข้นสูง หรือสัมผัสเป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดมะเร็งกับอวัยวะที่สัมผัส เตือนคนที่ครอบครองกำลังตกอยู่ในอันตราย

วันที่ 15 มีนาคม 2566 จากกรณีที่ สารซีเซียม-137 หายไปจากโรงงานผลิตไฟฟ้าไอน้ำจากโรงงานแห่งหนึ่งในตำบลท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งสารนี้ใช้กับเครื่องเลเซอร์ เพื่อใช้จับฝุ่นขี้เถ้าในโรงงานผลิตไฟฟ้าไอน้ำ หายไปตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา แม้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และพนักงานส่วนท้องถิ่น จะร่วมตรวจสอบตามร้านค้ารับซื้อของเก่า ล่าสุดก็ยังไม่พบสารดังกล่าว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สารซีเซียม-137 ที่สูญหาย หากถูกนำไปยังโรงหลอมเหล็ก รังสีเบตาและแกมมา ซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็งจะกระจายไปในอากาศในวงกว้าง

  1. สารซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้า บริษัทเนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5 A จำกัดตั้งอยู่ที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยสารกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวจะถูกห่อหุ้มด้วยสารตะกั่วล้อมรอบ และหุ้มด้วยท่อเหล็กกลม ขนาด 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัมอีกชั้น ใช้เป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโลของโรงไฟฟ้า โดยติดตั้งใช้งานตั้งแต่ปี 2538 คาดถูกขโมย
  2. ซีเซียม-137 เป็นโลหะอ่อนสีขาวเงินที่ตีขึ้นรูปได้ง่าย จะมีสภาพเป็นของเหลว ที่อุณหภูมิประมาณ 28 องศาฯ มีครึ่งชีวิตที่ 30 ปี เมื่อสลายตัวจะปล่อยรังสีเบตาและแกมมา ซึ่งอันตรายมาก และเปลี่ยนตัวมันจะเปลี่ยนเป็นสารแบเรียม-137 ที่สลายตัว ปล่อยรังสีได้เร็ว
  3. ในทางอุตสาหกรรมซีเซียม-137 จะใช้ในการวัดความชื้น และความหนาแน่นในการก่อสร้าง, ใช้ในเครื่องมือทางแพทย์ เพื่อรักษามะเร็ง, ใช้ในมาตรวัดกระแสน้ำในท่อ, ใช้วัดความหนาของสิ่งต่างๆ เช่น กระดาษ แผ่นโลหะ เป็นต้น
  4. หากแท่งซีเซียม-137 สูญหายหรือถูกขโมย บุคคลที่ครอบครอง ไปตัดหรือแกะออก จะได้รับอันตราย จากรังสีที่แผ่ออกมาได้ เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายเล็กน้อย โดยทางหายใจ หรือผิวหนังรังสี จะถูดดูดซึมไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ ตับและไขกระดูก สามารถถูกขับได้ทางเหงื่อและปัสสาวะ แต่หากสูดดม หรือรับเข้าไปด้วยความเข้มข้นสูง หรือเป็นระยะเวลาพอสมควร จะก่อให้เกิดมะเร็งกับอวัยวะที่สัมผัส
  5. หากท่อของสารซีเซียม-137 ดังกล่าว ถูกนำไปขายยังโรงแปรรูปเหล็ก และถูกหลอมในเตาเผา จะอันตรายมาก คือ รังสีจะถูกปล่อยออกมาทางปล่องควัน กระจายไปในสิ่งแวดล้อม และเกิดการเปรอะเปื้อนของรังสีเบตาและแกมมา ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอย่างรุนแรงในสภาพแวดล้อมในวงกว้าง
  6. ผู้ครอบครองทั้งร้านรับซื้อของเก่า โรงงานรีไซเคิล โรงงานหลอมหล่อเหล็ก ที่รับท่อหุ้มดังกล่าว ผู้ครอบครองถือว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย หากนำไปกองไว้ฝนตก น้ำชะจะไหลปนเปื้อนลงในน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน หากนำไปหลอมยิ่งกระจายไปทางอากาศ นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งในอนาคตอันใกล้.

...

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat