- 4 มีนาคม ของทุกปี ถือเป็น "วันอ้วนโลก" (World Obesity Day) ซึ่งโรคอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
- ข้อมูลของ WHO ยืนยันว่าโรคอ้วนในวัยเด็กนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ การตายก่อนวัยอันควร และภาวะทุพพลภาพ
- นอกจากการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักแล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยให้ห่างไกลจาก "โรคอ้วน" หนึ่งในนั้นคือ การใส่ "บอลลูนลดน้ำหนัก" ในกระเพาะอาหาร
วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันอ้วนโลก (World Obesity Day) ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยจาก "โรคอ้วน" เพิ่มสูงขึ้นทุกเพศทุกวัย จนกลายเป็นโรคฮิต โดยเฉพาะวัยทำงาน ชาวออฟฟิศที่ใช้พลังงานในแต่ละวันน้อย ขาดการออกกำลังกาย และรับประทานอาหารสำเร็จรูปที่มักจะประกอบไปด้วยแป้งและไขมัน เนื่องจากต้องการความรวดเร็ว สะดวกสบาย รวมถึงอาจมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารหนักๆ ในมื้อเย็น หรือมื้อดึก ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุที่ส่งเสริมให้เป็นโรคอ้วนมากขึ้น
โดยในปี 2566 สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ "Changing perspectives: Let’s talk about obesity: ปรับเปลี่ยนมุมมอง โรคอ้วนคุยกันได้" มุ่งเน้นการเสริมสร้างความตระหนักรู้ และการสื่อสารเกี่ยวกับโรคอ้วน การป้องกันและการจัดการโรคอ้วนในสังคมไทย เนื่องจากพบว่าประชากรทั่วโลกกว่า 4 ล้านคน เสียชีวิตจากการที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
...
แนวโน้มภาวะ "โรคอ้วน" เกิดได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่
ปัจจุบันโรคอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (MICS) ในปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย พบว่า
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.8 ในปี 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ 9.2 ในปี 2562
ส่วนเด็กอายุ 6-14 ปี จากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบเด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ 12.4 ในปี 2564
ส่วนวัยผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น จากคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่า เป็นโรคอ้วน หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัม/เมตร2 มากถึงร้อยละ 45.6 ในปี 2563 และเพิ่มเป็นร้อยละ 46.2 ในปี 2564 และร้อยละ 46.6 ในปี 2565
ซึ่งเป้าหมายของประเทศไทยมุ่งลดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ในเด็กไม่ควรเกินร้อยละ 10 และควบคุมผู้ใหญ่อ้วนไม่ให้เกิน 1 ใน 3
ดัชนีมวลกายเท่าไร เรียกว่าอ้วน
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขสำคัญของโลกและประเทศไทย โรคอ้วนในทางการแพทย์เรียกว่า Obesity หมายถึง ความผิดปกติของไขมันสะสมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเกณฑ์ของโรคอ้วนในคนไทยสำหรับผู้ใหญ่อายุ 20 ปีขึ้นไป จะพิจารณาจากค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body mass index) คิดได้จาก น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง โดยค่า BMI 23 - 24.90 แสดงถึงน้ำหนักเกิน และค่า BMI 25 ขึ้นไปแสดงถึงโรคอ้วน
สำหรับเด็กจะพิจารณาจากกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตเด็ก ซึ่งจะแตกต่างตามอายุของ 0-5 ปี และ 6-19 ปี โดยโรคอ้วนควรป้องกันตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก เพราะโรคอ้วนในเด็กจะส่งผล เช่น ขาโก่ง นอนกรน ระบบหายใจ หัวใจ พัฒนาการ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเอนซีดีในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งข้อมูลของ WHO ยืนยันว่าโรคอ้วนในวัยเด็กนั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ การตายก่อนวัยอันควรและภาวะทุพพลภาพ
ปัจจัยที่ก่อให้เกิด "โรคอ้วน"
นาวาโทนายแพทย์บุญเลิศ อิมราพร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคอ้วนปัจจุบันพบได้บ่อยมากขึ้นในคนวัยทำงานที่ไม่มีเวลาพักผ่อน หรือไม่มีเวลาดูแลตัวเองน้อยลง โรคอ้วนเกิดจากการที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนมีหลายสาเหตุ ได้แก่ การรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต แป้ง อาหารหวาน ของหวาน เบเกอรี่ ขาดการออกกำลังกาย กรรมพันธุ์ ซึ่งมักจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย หรือมีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ การกินยาบางชนิด เช่น ยาคุม สเตียรอยด์
และเมื่ออายุเยอะขึ้น ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง พลังงานจึงถูกเก็บในของรูปของไขมันแทน ถ้าเมื่อไหร่ที่ได้รับมากเกินไปจะเกิดการสะสมของไขมันตามจุดต่างๆ ในร่างกาย ถ้าสะสมบริเวณช่องท้อง มักจะเรียกว่า "อ้วนลงพุง" ยิ่งสะสมมาก ยิ่งส่งผลเสีย และทำให้โรคร้ายตามมา
สารพัดโรคที่ตามมากับ "โรคอ้วน"
นาวาโทนายแพทย์บุญเลิศ บอกด้วยว่า ปัญหาสุขภาพและโรคที่ตามมาจากโรคอ้วน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ 1 โรคเมตาบอลิกซินโดรม ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคเกาต์
- กลุ่มที่ 2 โรคหัวใจและปอด ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคนอนกรน
- กลุ่มที่ 3 โรคทางเดินอาหารและตับ ได้แก่ กรดไหลย้อน ตับอักเสบจากไขมันเกาะตับ นิ่วในถุงน้ำดี
- กลุ่มที่ 4 โรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งตับ ลำไส้ใหญ่ ปากมดลูก รังไข่ ตับอ่อน
นอกจากนี้ยังส่งผลต่อร่างกายด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ข้อเข่ากระดูกเสื่อมเร็ว ปวดหลัง ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาดได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า คนอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนผอม ทำให้โรคอ้วนเป็นโรคที่อันตรายมากกว่าที่คิด
ทางเลือก "ลดความอ้วน"
นาวาโทนายแพทย์บุญเลิศ กล่าวว่า ผู้ที่มีดัชนีมวลกาย หรือ BMI เกินกว่า 25 จะถือว่าผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน และหากว่าค่าเกินกว่า 30 ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ควรเข้าสู่กระบวนการลดน้ำหนักอย่างเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการลดน้ำหนักมากมาย ทั้งวิธีธรรมชาติ หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็น 1 ในวิธีการลดน้ำหนัก สามารถทำได้ด้วยการควบคุมอาหาร ลดคาร์โบไฮเดรต หรือแป้ง หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป รวมถึงอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม พร้อมกับหันมารับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำเปล่าก่อนรับประทานอาหารครึ่งชั่วโมง เพื่อลดความอยาก ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง
ปัจจุบันมีทางเลือกในการลดน้ำหนักที่ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่างการใส่ "บอลลูนลดน้ำหนัก" ในกระเพาะอาหาร ผ่านการส่องกล้อง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อลงได้ และรู้สึกอิ่มท้องนานขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักลดลงและอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งเป็นวิธีปรับพฤติกรรมการรับประทานในระยะยาว
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากใครกำลังมีความเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วน หากทดลองลดน้ำหนักด้วยตัวเองแล้วไม่ได้ผล และกำลังหาตัวช่วยในการลดน้ำหนักอยู่ ไม่ควรไปซื้อยาลดความอ้วนมารับประทานเอง เนื่องจากยาลดความอ้วนอาจส่งผลข้างเคียงทำให้นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น อาจทำให้หมดสติ ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงยังเป็นอันตรายกับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ และสตรีที่กำลังตั้งครรภ์
ดังนั้นผู้ที่อยากได้เครื่องมือช่วยลดความอ้วน ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และยังทำให้การลดน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนัก อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากรูปร่างที่สวยงามแล้ว เราต้องคำนึงถึงสุขภาพโดยรวมด้วย.
เรียบเรียง : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟิก : Varanya Phae-araya,Anon Chantanant