• โรคติกส์ (Tic disorder) เป็นภาวะกล้ามเนื้อกระตุก ที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท สั่งการให้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ โดยไม่ได้ตั้งใจ
  • การป่วยโรคติกส์ ไม่เป็นอันตรายต่อสมอง แต่อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพ การเข้าสังคม และการเรียนรู้ของเด็ก 
  • แนวทางการรักษาโรค มีตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ฝึกและควบคุม ไปจนถึงการใช้ยา และเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์

บุตรหลานหรือคนใกล้ชิดท่าน เคยมีอาการอาการเหล่านี้หรือไม่ ขยิบตาและย่นจมูก มุมปากกระตุกบ่อยครั้ง สะบัดคอ ยักไหล่ กระตุกแขนและขาซ้ำๆ บางครั้งก็ไอและซูดจมูกเสียงดัง ไปจนถึงขั้นพูดคำที่ไม่มีความหมาย หรือคำหยาบคายออกมาโดยไม่รู้สึกตัว หากสังเกตแล้วพบว่าเคยมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น อาจเป็นสัญญาณเตือน ว่าเด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติกส์ หรือภาวะกล้ามเนื้อกระตุก

โรคติกส์ คืออะไร

TICS หรือที่เรียกกันว่า โรคติกส์ (Tic disorder) เป็นภาวะกล้ามเนื้อกระตุก จากความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง ที่สั่งการให้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ (Motor tics) โดยไม่ได้ตั้งใจ และควบคุมลำบาก เช่น กะพริบตา อ้าปาก ยักไหล่ หรือแขนขากระตุก เป็นต้น

...

บางครั้งอาจมีการออกเสียงที่ผิดปกติร่วมด้วย คือ อาจมีการเปล่งเสียงขึ้น (Vocal Tics) จากลำคอ หรือจมูก โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจ เช่น ไอ กระแอม สูดจมูก ส่งเสียงในลำคอ ไปจนถึงการพูดซ้ำ หรือสบถเป็นคำหยาบ

ในผู้ป่วยบางราย พบทั้งกล้ามเนื้อกระตุก และออกเสียงผิดปกติทั้งสองอย่างร่วมกัน จะเรียกว่าโรคทูเร็ตต์ (Tourette) โดยมีอาการเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก (ไม่เกิน 18 ปี) พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

โรคติกส์ในเด็กอันตรายหรือไม่

โรคติกส์เป็นอาการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเอง หรืออาการกล้ามเนื้อกระตุก โดยอาการจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ไม่เป็นจังหวะ และอาจหายได้ในเวลารวดเร็ว แต่สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้

โรคนี้ไม่เป็นอันตรายต่อสมอง หรือการเรียนรู้ของเด็ก แต่อาจทำให้รู้สึกรำคาญ หรือเสียบุคลิกได้ ส่วนมากจะเกิดขึ้นในเด็ก ช่วงวัย 3-7 ปี บางครั้งจะส่งผลต่อบุคลิกภาพและความเชื่อมั่น หากโดนเพื่อนหรือคนรอบข้างล้อเลียน 

ทั้งนี้ เด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุก มักจะตรวจเจอโรคอื่นเพิ่มด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า

โรคติกส์ มีสาเหตุมาจากอะไร

ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดว่า ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกเกิดขึ้นจากอะไร แต่สันนิษฐานว่า เป็นความบกพร่องในการทำงานของสมอง จากปัจจัยร่วมกัน ดังนี้ 

  1. พันธุกรรม เช่น การมีคนในครอบครัว หรือญาติพี่น้องมีประวัติเป็นโรคติกส์ โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้
  2. ความผิดปกติของสมอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมกล้ามเนื้อในส่วนของการเคลื่อนไหว ถ้าสมองส่วนนั้นทำงานผิดปกติไป ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคติกส์ได้
  3. การติดเชื้อ เบต้า-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A beta-hemolytic streptococcus) ทำให้มีอาการอักเสบเจ็บคอ และเชื้อเข้าไปอยู่ในส่วนของสมอง ทำให้ภูมิคุ้มกันเข้าไปทำปฏิกิริยากับส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อ
  4. ปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่น ความเครียด หรืออาการเต้น กังวลใจ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชักกระตุกได้

อาการของโรคกล้ามเนื้อกระตุกติกส์

  1. กล้ามเนื้อกระตุก (Motor tics) พบได้บ่อยในผู้ป่วย เป็นการกระตุกที่เริ่มจากใบหน้า อาทิ กะพริบตารัวและถี่ ยักคิ้ว ย่นจมูก ทำปากขมุบขมิบ โดยมักจะเปลี่ยนที่กระตุกไปเรื่อยๆ ซ้ายบ้างขวาบ้าง ไม่เฉพาะเจาะจง อาจลามไปกระตุกที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น 
    - คอ โดยมักพบอาการ สะบัดคอ เอียงศีรษะ
    - ไหล่และแขน มักพบอาการที่แกว่งไปมา
    - ขา มักพบอาการแกว่งขา หรือมีการกระดิกเท้า
    - บางรายอาจมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ซับซ้อน เช่น กระโดดโดยไม่ทราบสาเหตุ ตีตัวเอง แคะจมูก แลบลิ้น จับจมูก
  2. อาการส่งเสียงผิดปกติ (Vocal tics) อาการนี้จะพบได้น้อยกว่าแบบแรก เป็นการกระแอม ไอ ส่งเสียงในคอ สะอึก มีอาการแบบสูดน้ำมูก หรือส่งเสียงมาเป็นคำ ทั้งที่มีความหมาย และไม่มีความหมายใดๆ รวมไปถึงคำหยาบ

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ เกิดกับเด็กอายุเท่าไร

อย่างที่บอกไปข้างต้น ว่าผู้ป่วยโรคนี้ คือเด็กส่วนมากจะอยู่ในช่วง 3-7 ปี พบเป็นเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จะเริ่มมีอาการมากขึ้น เมื่อเด็กคนนั้นมีความเครียด อดนอน ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยและล้า

แต่ในเด็กโต ก็พบว่ามีภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ได้เช่นกัน แต่สามารถควบคุม หรือกลั้นอาการกระตุกหรือส่งเสียงได้ ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก โดยทั่วไปแล้ว เมื่ออายุเพิ่มขึ้นอาการของโรคจะค่อยๆ หายไปหรือลดลง ส่วนน้อยที่จะเป็นจนถึงวัยผู้ใหญ่

วิธีการรักษาโรค TICS 

  1. ปรับพฤติกรรม ฝึกและควบคุมอาการ
    การรักษานี้ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีในเด็กโต ที่มีอาการนำ แต่ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครองและตัวเด็กเอง
  2. ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและบุคคลรอบข้าง
    อาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือการส่งเสียงออกมาแบบไม่ตั้งใจนี้ ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรือแกล้งทำ พ่อแม่หรือคนรอบตัวเด็กต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่ต่อว่าตำหนิ ไม่ล้อเลียน ไม่ทักหรือห้ามใดๆ จนทำให้เด็กเครียด เพราะอย่างที่บอกว่าถ้ายิ่งเครียดอาการยิ่งเพิ่มมากขึ้น
  3. ไม่ควรทักหรือล้อเลียนเมื่อเด็กมีอาการ
    อย่าแสดงกิริยาต่างๆ ไม่ทัก ไม่ล้อ ไม่ต่อว่า เมื่อเด็กมีอาการกระตุก แต่ให้หาสาเหตุที่อาจทำให้เด็กเครียด แล้วช่วยแก้ไข เช่น ถ้าเห็นเด็กมีอาการ ควรหาทางให้เด็กได้พักผ่อนหรือเบี่ยงเบนให้ทำกิจกรรมผ่อนคลาย 
  4. คุณครูก็ต้องทำความเข้าใจโรคนี้ด้วยเช่นกัน
    พ่อแม่อาจหาวิธีบอกครูในเบื้องต้น ให้ครูเข้าใจว่าอาการของเด็กนั้นไม่ร้ายแรง ไม่ใช่โรคติดต่อ เพื่อให้ครูช่วยดูแล ขอความร่วมมือจากเพื่อนๆ ว่าห้ามทัก ล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม
  5. อย่าให้เด็กเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ
    สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความเครียด หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อความเครียด งดออกกำลังกายหนักและเหนื่อยเกินไป 
  6. ปรึกษาคุณหมอ หากทำทุกวิธีแล้วพบว่าอาการเด็กยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางรักษา และการป้องกันที่ถูกต้อง
  7. การรักษาด้วยยา
    การกินยา จะเป็นการช่วยลดอาการกระตุกได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ และความรุนแรงของอาการ
  8. รักษากับโรคที่ตรวจพบร่วม
    บางครั้ง แพทย์จะรักษาร่วมกับโรคหรืออาการอื่นๆ เช่น เด็กที่พบโรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน เพราะเด็กกลุ่มที่พบโรคข้างต้นมักจะเป็นกล้ามเนื้อกระตุกร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้โรคติกส์ ในทางการแพทย์ จะมองว่าเป็นโรคที่ไม่น่ากลัว และรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือและเอาใจใส่ของผู้ปกครอง ต้องหมั่นสังเกตอาการ และดูพฤติกรรม ที่ก่อให้ความเครียดต่อตัวเด็ก

หากพบเห็นความผิดปกติ ควรรีบหาวิธีแก้ปัญหา ห้ามละเลย แล้วปล่อยให้โรคนี้เกิดขึ้นกับลูกหลานของท่าน เพราะมันอาจจะลุกลามไปเป็นโรคอื่นตามมา ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ภาวะการเข้าสังคม รวมไปถึงการใช้ชีวิตในอนาคตได้.

ผู้เขียน : PpsFoam
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun