เทศบาลลงพื้นที่ แจกยา-รองเท้าบูต และตรวจดูอาการคนในชุมชน หลังเพจดังโพสต์ภาพ ยายวัย 70 เป็น "โรคน้ำกัดเท้า" เนื่องจากประสบกับปัญหาน้ำท่วม จ.นนทบุรี

วันที่ 17 ตุลาคม 2565 จากกรณี ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจดัง Drama-addict ได้โพสต์ภาพน้ำท่วมในชุมชน แห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี พร้อมระบุข้อความว่า "ลูกเพจฝากมา ชุมชนวัดนครอินทร์ นนทบุรี มีหน่วยงานลงพื้นที่ช่วยแจกถุงยังชีพแล้ว แต่ยังอยากได้ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า คุณยายคนนี้อายุ 71 ปีอยู่คนเดียว เท้าเป็นแบบในภาพ นอกจากคุณยายคนนี้ยังมีคนที่เจอปัญหาเดียวกันอีกเยอะ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย"


ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ชุมชนดังกล่าว ต.สวนใหญ่ อ.เมืองนนทบุรี พบกับนางสุวณี ชาญจิต อายุ 70 ปี เปิดร้านขายของชำ เผยว่า ชุมชนหลังวัดนครอินทร์ มีบ้านเรือนประชาชนอยู่ประมาณ 40 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมานานเกือบเดือนแล้ว เนื่องจากอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา

...

ช่วงแรกระดับน้ำยังมีขึ้นมีลง แต่มาสองอาทิตย์หลัง ระดับน้ำลดลงน้อยมาก ทำให้พื้นบ้านถูกน้ำท่วมขัง ต้องใช้ชีวิตเดินลุยน้ำอยู่ในบ้าน และขายของตลอดทั้งวัน จึงเริ่มมีอาการคันที่เท้าสองข้างเป็นแผลน้ำกัดเท้า

ที่ผ่านมา แม้ทางเทศบาลจะเข้ามาช่วยเหลือ ด้วยการแจกถุงยังชีพ พร้อมกับให้ยาทาน้ำกัดเท้า แต่ยาทาหมด ทำให้แผลจากน้ำกัดเท้ายังไม่หาย ตอนนี้สิ่งที่ตนอยากได้มากที่สุด คือยาทากันน้ำกัดเท้า และรองเท้าบูต เพื่อใส่เดินลุยน้ำได้

ทั้งยังกล่าวว่า สถานการณ์น้ำปีนี้ หนักว่าทุกปีที่ผ่านมา น้ำมาเยอะมากลดลงช้า จนทำให้บ้านทรุดเอียง ห้องน้ำไม่สามารถใช้งานได้ ตนอยู่มา 30 ปี ไม่คิดว่าปีนี้จะมาเจอสถานการณ์น้ำท่วม

ล่าสุด นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ได้ให้เจ้าหน้าที่เทศบาลนครนนทบุรี กองสาธารณสุข ลงพื้นที่นำยารักษาน้ำกัดเท้า รองเท้าบูต พร้อมตรวจดูอาการน้ำกัดเท้าให้ประชาชนแล้ว

อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้แนะแนวทางการดูแลผู้ป่วยน้ำกัดเท้า ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำมากๆ
  2. ถ้าเลี่ยงไม่ได้ต้องสัมผัสน้ำให้ใส่รองเท้าบูต เมื่อขึ้นจากน้ำให้ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่ เช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอและทาครีมบำรุงผิว
  3. ถ้ามีผื่นแดงเล็กน้อย คัน ควรทายากลุ่มสเตียรอยด์
  4. ถ้ามีผื่น และมีรอยเปื่อยฉีกขาดของผิว มีอาการบวมแดง ปวดเจ็บ หรือมีหนองเป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์
  5. ถ้าเท้าแช่น้ำนานหลายสัปดาห์ต่อเนื่อง หรือนิ้วเท้าเก หรือชิดกันมาก ทำให้อาจติดเชื้อราที่ง่ามนิ้วเท้าเกิดเป็นผื่นขุยเปียกขาว ควรใช้ยาทารักษาเชื้อรา
  6. ถ้ามีบาดแผลควรทำแผลและทายาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน
  7. ระวังการตัดเล็บเท้าเพราะอาจเกิดบาดแผลเป็นทางเข้าของเชื้อโรค
  8. ทำความสะอาดเท้า ง่ามเท้าของเล็บทุกครั้งหลังลุยน้ำด้วยน้ำ และสบู่ เช็ดให้แห้ง

ในกรณีอยู่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรม ระวังน้ำปนเปื้อนสารเคมี ระวังไฟฟ้าดูด รับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ระวังแมลงกัด และระวังโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก ดังนั้น หากเท้ามีความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ ประชาชนสามารถดูข้อมูลการดูแลปัญหาผิวหนังเบื้องต้น.

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Drama-addict