“หมอประสิทธิ์” คาดอีกไม่นาน โควิด BA.4 BA.5 จะเข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในไทย แนะฉีดวัคซีนกระตุ้น ไม่ต้องรอรุ่น 2 หลังมีรายงานฉีด 4 เข็มแล้ว ก็ตายได้ เตรียมชง ศบค. ออกกฎใส่หน้ากากในพื้นที่ปิด
วันที่ 5 ก.ค.65 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า การระบาดของไทยขณะนี้ไม่ได้แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลก ที่พบการระบาดของ BA.4 BA.5 ไปแล้วกว่า 110 ประเทศ และการรายงานตัวเลขติดเชื้อที่แท้จริงก็ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากหลายประเทศเลิกตรวจหาเชื้อไปแล้ว บางประเทศที่ตรวจ ก็ไม่ได้ตรวจสายพันธุ์ เช่นเดียวกับไทย เพราะมีการเปิดประเทศ จึงพบ BA.4 BA.5 จากการนำเข้าโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เมื่อมาถึงก็ตรวจน้อยลง โอกาสแพร่กระจายเชื้อจึงมากขึ้น คาดว่าไม่นานเชื้อ BA.4 BA.5 จะกลายเป็นสายพันธุ์หลัก
แต่ข้อมูลทั่วโลกพบว่าเชื้อไม่ก่อความรุนแรง แต่สิ่งที่ต้องย้ำ คือ มาตรการต่างๆ ต้องกลับมากระชับมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ฉีดไม่ครบ อยากรณรงค์เร่งฉีดให้ครบ โดยเฉพาะเข็มกระตุ้นที่ยังฉีดกันได้แค่ร้อยละ 42-43 จากที่ตั้งเป้าไว้ร้อยละ 50 เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ยังเสียชีวิต แต่ขณะนี้มีรายงานแม้ฉีด 4 เข็มก็เสียชีวิตได้ และไม่ต้องรอวัคซีนรุ่น 2 เพราะกว่าจะออกมาฉีดได้คาดว่าในช่วงปลายปี เพราะยังอยู่ในขั้นตอนทดลองมนุษย์ นอกจากนี้คงต้องกำชับมาตรการการใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง และล้างมือด้วย
“วันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยน อยากให้ผู้ใหญ่ในประเทศส่งสัญญาณ เพราะขณะนี้มีการติดเชื้อเพิ่ม จึงเสนอให้รัฐบาลต้องกลับมากระชับมาตรการป้องกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการออกข้อบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขคงจะต้องเสนอ ศบค.พิจารณา สอดรับกับหนังสือที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งการถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขตเตรียมพร้อมให้หน่วยบริการสุขภาพรับมือผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น เป็นมาตรการที่ต้องรีบทำ อย่ารอจนเตียงไม่พอจะไม่ทันต่อสถานการณ์” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
...
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวด้วยว่า ประเมินสถานการณ์เวลานี้อาจจะไม่รุนแรงเหมือนช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ปัจจัยมาจากคนฉีดวัคซีนไปค่อนข้างมาก และตัวเชื้อไม่ได้รุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่เชื้อตัวนี้แพร่ระบาดเร็วมาก หากแพร่เร็วจนเพิ่มจำนวนมากก็เสี่ยงที่เกิดการกลายพันธ์ุได้ ที่น่าห่วงคือ กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับเชื้อจากคนที่ไม่แสดงอาการ จึงต้องย้ำถึงการฉีดวัคซีนให้ครบ แม้ไม่ได้ป้องกันติดเชื้อ แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรค
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโควิดใน รพ.ศิริราช ว่า ยอมรับผู้ป่วยโควิดเข้ามารักษาเพิ่มขึ้นจริง โดยเฉพาะผู้ป่วยไอซียูที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มาด้วยโรคประจำตัว เมื่อมาตรวจกลับพบเป็นโควิดร่วมด้วย ขณะนี้เตียงรองรับผู้ป่วยโควิดยังเพียงพอ แต่ก็ไม่ได้วางใจ และเตรียมรับมือกับสถานการณ์อยู่ต่อเนื่อง ทั้งยังเข้มมาตรการส่วนบุคคลในบุคลากรทุกระดับที่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ เพราะไม่รู้ว่า คนที่เดินไปมาติดเชื้อหรือไม่
ขณะที่ผู้ป่วยระดับสีเขียว เข้ามารักษาเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่จากการติดตามอาการหลังกินยา 4-5 วันก็หาย ไม่ได้รุนแรง ทั้งนี้ รพ.ศิริราช และกระทรวงสาธารณสุขได้มอนิเตอร์เฝ้าระวังสถานการณ์อยู่ต่อเนื่อง.